กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ USDA และภาคีเครือข่ายประชุมเชิงปฏิบัติการ “Plant Breeding Innovation for sustainable Agriculture and Agro-economic Developments”ต่อยอดการเยือนสหรัฐอเมริกาผลักดันเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (GEd) สร้างการรับรู้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ให้เข้าใจถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศ

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธานในการประขุมเชิงปฏิบัติการ Plant Breeding Innovation for sustainable Agriculture and Agro-economic Developments และบรรยายพิเศษ แนวทางการขับเคลื่อน เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมในประเทศไทย ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 4 กันยายน 2567 ณ Bangkok Marriott Marquis Queen’s Park

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ (New Breeding Technology -NBT) ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) ที่มีความปลอดภัยสูง และไม่เป็นพืช GMOs ไม่มีการตัดต่อ DNA จากสิ่งมีชีวิตอื่นเข้ามาในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งในผลิตภัณฑ์สุดท้ายมีสารพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตผู้ให้ที่สามารถผสมพันธุ์กันได้ตามธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิตผู้รับ จึงมีศักยภาพที่เหมาะสมสำหรับการปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิตเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร สามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างปลอดภัยและจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพส่งเสริมการแข่งขันของภาคการเกษตรเพื่อรองรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการระบาดของโรค แมลง ศัตรูพืชอุบัติใหม่ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ให้การยอมรับและสนับสนุนเทคโนโลยี รวมถึงประเทศต่างๆ ให้การยอมรับและสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูงนี้

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าว จึงออกประกาศ เรื่อง การรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567และกรมวิชาการเกษตรออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยตนได้นำทัพนักวิชาการเยือนประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 24-29 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา พร้อมร่วมมือขับเคลื่อนงานวิจัยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมรองรับภาวะวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหาร หารือแนวทางในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี GEd กับหน่วยงาน USDA,Animal and Plant HealthInspection Service (APHIS), Agricultural Research Service (ARS), Foreign Agricultural Service (FAS) มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์, Agriculture & Food Systems Institute (AFSI) บริษัท คอร์เทวา และไบเออร์ เพื่อเร่งสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม สร้างโมเดลพืชGEd ทดแทนการนำเข้าข้าวโพด ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง รองรับปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคอุบัติใหม่ในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ

ซึ่งระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน 2567 กรมวิชาการเกษตร และภาคีเครือข่าย อาทิกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค (APSA) สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) และครอปไลฟ์ เอเชีย (CropLife Asia) ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Plant Breeding Innovations for Sustainable Agriculture and Agroeconomic Development ขึ้นเพื่อผลักดันเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม สร้างการรับรู้ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ให้เข้าใจถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศ

นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังเร่งพัฒนาบุคลากรและห้องปฏิบัติการ รองรับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีในภาคการเกษตร พัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนของโลกโดยกรมวิชาการเกษตร ได้มอบใบประกาศรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการภาคเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชนมุ่งเป้าเป็น World tropical seed hubโดยยกระดับ Phytosanitary Certificate ของไทยเข้าสู่ระบบดิจิตัล เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าเมล็ดพันธุ์ และการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบศัตรูพืชของไทย ที่มีความชัดเจน รวดเร็ว ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะในภาวะที่มีการแข่งขันทางการค้าสูง ส่งเสริมและสนับสนุนการของบประมาณจากแหล่งทุน สกสว. สวก. และเครือข่ายต่างๆ ผลักดันงบประมาณโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ และได้ประสานความร่วมมือกับ Agriculture and Food System Institute และหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อพัฒนาแนวทางการใช้ CHATBot AI และสร้างการรับรู้ให้กับภาคส่วนต่างๆ ผ่านช่องทางการสัมมนา ให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ประชาชนทั่วไป รวมถึงเกษตรกรให้เข้าใจถึงเทคโนโลยี GEd ที่ถูกต้อง นำไปสู่การขับเคลื่อนใช้ประโยชน์ และสร้างความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตัวเองของประเทศไทย ตอบโจทย์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)นำไปสู่การลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก สอดรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) ของประเทศ สู่ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารของโลก