‘รมว.กษ.’ สั่งด่านตรวจพืช ตรวจเข้ม 100% ทุกชิปเมนท์ คุมเข้มการนำเข้ามะพร้าวหากพบแมลงศัตรูพืช หรือการงอก ส่งกลับหรือเผาทำลายทันทีพร้อมขยายผลตรวจเข้มสินค้าเกษตรอื่นๆ แนวชายแดน ป้องกันลักลอบนำเข้า

ตามนโยบาย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือมาตรการนำเข้ามะพร้าว และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ด้านการผลิต ราคา การตลาด การนำเข้ากะทิ มะพร้าวแก่ปอกเปลือกจากต่างประเทศ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว และตัวแทนเครือข่ายชาวสวนมะพร้าวของไทย จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศโดยเคร่งครัด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษพญานาคราช ที่ทำงานบูรณาการตรวจร่วมกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมศุลกากร ตำรวจ ทหาร มหาดไทย และหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด่านตรวจพืช

กรมวิชาการเกษตร ที่ต้องคุมเข้ม ควบคุมป้องกันการนำเข้ามะพร้าวในโควตา และนอกโควตา รวมถึงการเฝ้าระวังแมลงศัตรูพืชและการงอกของมะพร้าว โดยทำการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ทำการเปิดตรวจตู้ 100% ทุกชิปเม้นท์ หากพบแมลงศัตรูพืช หรือการงอก ให้ดำเนินการส่งกลับหรือเผาทำลายทันทีทั้งชิปเม้นท์ พร้อมขยายผลตรวจเข้มสินค้าเกษตรอื่นๆ แนวชายแดน ป้องกันลักลอบนำเข้า และขอร่วมมือผู้ประกอบการร่วมปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด

​วันที่ 31 มีนาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่ ณ ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ เพื่อติดตามการปฏิบัติงานการตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าว และผลิตภัณฑ์มะพร้าว เพื่อป้องกัน ควบคุม เฝ้าระวัง โรค และศัตรูพืชที่อาจจะติดมา ที่จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชร้ายแรง ตลอดจนสร้างความเสียหายแก่พืชเศรษฐกิจ และระบบการผลิตพืชของประเทศไทย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า มะพร้าวแก่ปอกเปลือกที่นำเข้าต้องผ่านการวิเคราะห์ ความเสี่ยงศัตรูพืช และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงประกาศกรมวิชาการเกษตร ที่เกี่ยวกับการนำเข้ามะพร้าว ปัจจุบันอนุญาตให้นำเข้าผลมะพร้าวแก่ปอกเปลือก เนื้อมะพร้าวสด เนื้อมะพร้าวแห้ง จากมาเลเซีย เวียดนาม สหภาพเมียนมา และอินโดนีเซีย เพื่อการแปรรูป ในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยในปี 2566 มีการนำเข้ารวมประมาณ 127,901 ตัน 1,178 ชิปเมนท์ มูลค่าประมาณ 1,139 ล้านบาท

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้ามะพร้าวเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายที่กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแล ได้กำหนดด่านนำเข้าเพียง 2 ด่าน คือ ด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ดังนั้น การนำเข้าต้องแจ้งนำเข้า ณ ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง และด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ เท่านั้น บทบาทหน้าที่ของด่านตรวจพืชกรมวิชาการเกษตร นอกจากจะควบคุมการนำเข้า ณ ด่านที่กำหนดแล้ว อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้สั่งการ ให้ด่านตรวจพืชทั่วประเทศทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อื่นๆ ได้แก่

กรมศุลกากร ด่านอาหารและยา หน่วยงานความมั่นคง และองค์กรปกครองในพื้นที่ เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ามะพร้าวแก่ปอกเปลือกจากประเทศเพื่อบ้าน ลดผลกระทบต่อเกษตรกร และอุตสาหกรรมการผลิตกะทิของไทยอีกทั้ง อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า นโยบายของ รมว.เกษตร ที่สั่งการให้

กรมวิชาการเกษตร เข้มงวดในการตรวจสอบ กักกัน และดำเนินคดีสินค้าเกษตรเถื่อนผิดกฎหมาย ซึ่งตนได้กำชับ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ดำเนินการตามนโยบายอย่างเคร่งครัด โดย รมว.เกษตร มีกำหนดลงพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดระยอง ในช่วงเดือนเมษายน หลังสงกรานต์ เพื่อคุมเข้มคุณภาพผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด ลำไย) และตรวจสอบมาตรฐาน GMP โรงคัดบรรจุ และมาตรฐาน GAP สวนผลไม้

เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูการส่งออกผลไม้คุณภาพภาคตะวันออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสั่งการทีมพญานาคราชร่วมกับทีม สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัด ลุยตรวจเข้ม 100% หากตรวจพบทุเรียนอ่อน และผลไม้ไม่มีคุณภาพ สั่งยึดอายัดใบ GMP/GAP ทันที