ข่าวกิจกรรม

ต้อนรับ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจราชการในพื้นที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์

วันที่ 22 มกราคม 2565 นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตรวจราชการในพื้นที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยในช่วงเช้าได้เป็นประธานเปิดศูนย์ท่องเที่ยวเกษตรอุตรดิตถ์ และร่วมเสวนากับตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตร ในหัวข้อทางออกปุ๋ยสู่ความยั่งยืน ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรอุตรดิตถ์ โดยมีนางอารีรัตน์ พระเพชร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ ร่วมเสวนาด้วย ซึ่งในเวทีเสวนา  นางอารีรัตน์ ได้ชูประเด็นการใช้ปุ๋ยชีวภาพของกรมวิชาการเกษตร ให้เป็นทางออกของเกษตรกร ในการเลือกใช้ปุ๋ยชีวภาพให้เหมาะกับชนิดพืช ซึ่งถ้าใช้ได้ถูกประเภท จะช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีลง 20-25 % เช่นในรายที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว การใช้ปุ๋ยชีวภาพแหนแดงสายพันธุ์ Azolla microphylla ในพื้นที่นา 1 ไร่ สามารถเพาะเลี้ยงเพื่อให้เจริญเติบโตเป็นน้ำหนักสดถึง 3 ตัน ทดแทนปุ๋ยยูเรียได้ 10 – 12 กิโลกรัม หลังการจบเวทีการเสวนาได้ให้สัมภาษณ์ กับ สวท.อุตรดิตถ์ เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ และการเพาะเลี้ยงแหนแดงในวงบ่อ

นอกจากนี้บริเวณงานยังมีการจัดนิรรศการ ปุ๋ยชีวภาพ ชนิดต่างๆ ของของกรมวิชาการเกษตร เช่น ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ที่มีประโยชน์ในด้านเพิ่มปริมาณราก 20 % เพิ่มผลผลิตพืช 10 % เพิ่มประสิทธิภาพการดูดน้ำและปุ๋ย 15 % ลดการใช้ปุ๋ยเคมี 25 % ซึ่งปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามชนิดพืชที่เหมาะสมกับชนิดของแบคทีเรียคือ พีจีพีอาร์-1 เหมาะสำหรับ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ผัก พืชสมุนไพร  พีจีพีอาร์-2 เหมาะสำหรับ ข้าว พีจีพีอาร์-3 เหมาะสำหรับ อ้อย มันสำปะหลัง  ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตฟอสเฟต คือปุ๋ยชีวภาพที่มีความสามารถเพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสให้กับต้นพืช เหมาะสำหรับดินที่มีปัญหาการตรึงฟอสเฟต เช่น ดินกรด ดินด่าง สามารถใช้กับพืช ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา พืชไร่ ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และข้าวไร่

และในช่วงบ่ายได้เข้าพบปะเกษตรผู้ปลูกทุเรียน ณ ตลาดกลางผลไม้เทศบาลตำบลหัวดง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ได้รับฟังสถานการณ์ของการผลิตทุเรียนจังหวัดอุตรดิตถ์ จากตัวแทนสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล และได้ร่วมเวทีเสวนา แนวทางการพัฒนาไม้ผล (ทุเรียน ลองกอง) จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีตัวแทนจากบริษัทผู้ส่งออกทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์ เข้าร่วมเสวนาด้วย ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการอบรมพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภาคเหนือเพื่อการส่งออกครั้งที่ 1 ในความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับบริษัทเดอะลิส อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น

ในส่วนของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ ได้ร่วมกิจกรรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในหัวข้อการผลิตทุเรียนให้ได้ตามมาตรฐานตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดการตรวจรับรอง GAP พืช ซึ่งประกอบด้วย 1.แหล่งน้ำที่ใช้ในแปลงปลูก ต้องไม่ใช้น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือพบการปนเปื้อนวัตถุหรือสิ่งที่เป็นอันตราย 2.พื้นที่ปลูกไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุหรือ สิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลิตผล 3.ใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรตามคำแนะนำตามฉลากที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร 4.ปัจจัยการผลิตที่ใช้ในแปลง ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ 5.ต้องเก็บเกี่ยวผลิตผลที่มีอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม หรือตามข้อกำหนดของคู่ค้า และการเก็บเกี่ยวต้องปฏิบัติอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่มีต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค 6.การขนย้าย พักผลิตผล หรือเก็บรักษาผลิตผล ต้องมีวัสดุปูรองพื้นในบริเวณพักผลิตผลที่เก็บเกี่ยวแล้ว เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งปฏิกูล เศษดินและสิ่งสกปรก 7.ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความเข้าใจ หรือได้รับการฝึกอบรมสุขลักษณะส่วนบุคคล เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกสุขลักษณะ และ 8.มีบันทึกการปฏิบัติแปลง และประวัติการฝึกอบรมก่อนการปิดการอบรม นายนราพัฒน์ ได้ฝากให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความพึงพอใจ และขายได้ในราคาที่สูงซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ