ข่าวประชาสัมพันธ์

เกษตรฯ เร่งอัดฉีด GAP ปีหน้าเป้าเพิ่มแสนห้าหมื่นแปลง

กรมวิชาการเกษตร เตือนรัวๆ เกษตรกรต้องเร่งตบเท้าเข้า GAP เพิ่มโอกาสส่งออกผลไม้ไทย เผยสิงหาคมนี้จีนเปิดรับออร์เดอร์ส้มโอ มะขาม และเงาะจากสวน GAP เท่านั้น คาดปีนี้ปัญหาสวนไม่มี GAP น้อยลง พร้อมระดมพลตรวจสวนทั่วประเทศให้ได้ใบรับรองครบ 100 เปอร์เซ็นต์ จ่อเพิ่มเป้ารับรอง GAP ปีหน้าอีก 150,000 แปลง

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูกาลส่งออกผลไม้ในภาคตะวันออกในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้จะมีผลผลิตทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนแหล่งใหญ่ในภาคตะวันออกออกสู่ท้องตลาดมากที่สุดถึง 166,583 ตัน หรือคิดเป็น 41 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตที่ออกมาทั้งหมดตั้งแต่เดือนมกราคม โดยจังหวัดจันทบุรีมีพื้นที่ปลูกทุเรียนจำนวน 264,464 ไร่ เป็นเนื้อที่ให้ผลจำนวน 204,535 ไร่ ซึ่งในปีนี้มีเกษตรกรชาวสวนทุเรียนมายื่นขอรับรองแปลงตามมาตฐาน GAP จำนวน 204,146 ไร่ จำนวน 18,172 แปลง เจ้าหน้าที่ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6)กรมวิชาการเกษตร ได้เร่งตรวจให้การรับรอง แปลง GAP ของเกษตรกรได้ครบทั้งหมด100 เปอร์เซ็นต์ตามจำนวนพื้นที่ที่มาขอยื่นรับรอง

ปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนในจังหวัดจันทบุรีปริมาณมากถึง 398,618 ตัน มากกว่าปี 2563 ที่ให้ผลผลิต 380,446 ตัน ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งออกไปประเทศจีน โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาไทยส่งออกผลไม้ไปจีนรวมปริมาณทั้งสิ้น 1,623,523 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 102,717 ล้านบาท ซึ่งทุเรียนยังคงเป็นผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมจากจีนและมีปริมาณการส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 618,783 ตัน คิดเป็นมูลค่า 66,017 ล้านบาท

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามแม้ในปีนี้เจ้าหน้าที่ สวพ.6 จะเร่งตรวจรับรองแปลงของเกษตรกรเพื่อให้ทันกับฤดูกาลส่งออกจนได้รับการรับรอง GAP จนครบทั้งหมดตามจำนวนของเกษตรกรแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ได้ย้ำเตือนเกษตรกรให้ความสำคัญกับใบรับรอง GAP เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีการสวมใช้ใบรับรอง GAP ของชาวสวนไทยทำให้เจ้าของหมายเลข GAP ที่ถูกสวมเสียหายไปด้วย โดยเจ้าหน้าที่ของ สวพ.6 ได้แนะนำให้ชาวสวนเขียนรายละเอียดการซื้อขายและเซ็นกำกับในใบสำเนา GAP ที่ส่งให้คนซื้อทุกครั้ง ส่วนเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตรก็ได้ตรวจสอบการใช้ใบรับรอง GAP ในการยื่นขอใบรับรองสุขอนามัยพืชก่อนส่งออกอย่างเข้มงวด เนื่องจากหากปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้งอาจเป็นสาเหตุให้จีนระงับการนำเข้าผลไม้จากไทยทั้งประเทศได้

สำหรับในปี 2564 นี้กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช GAP รวมจำนวนทั้งสิ้น 120,000 แปลง โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายผลไม้หลักส่งออกที่จำเป็นต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP ตามเงื่อนไขของประเทคู่ค้า เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด ลิ้นจี่ และมะม่วง ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งออกไปประเทศจีน โดยปัจจุบันจีนได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากประเทศไทยรวมจำนวนทั้งสิ้น 22 ชนิด ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท / ปี โดยในเดือนสิงหาคมนี้จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้กับจีนอีก 3 ชนิด คือ มะขาม เงาะ และส้มโอ ซึ่งจะทำให้การส่งออกผลไม้ไปจีนจะต้องเป็นสวนที่ขึ้นทะเบียนและโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้นจึงจะส่งออกไปจีนได้

 

 

 

 

 

 

ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรในแต่ละพื้นที่แจ้งให้เกษตรกรได้รับทราบและรีบสมัครเข้าสู่กระบวนการตรวจรับรองตามมาตรฐาน GAP โดยเจ้าหน้าที่ของกรมจะเร่งรัดการตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนสวน GAP และโรงคัดบรรจุผลไม้ GMP พืชทั้ง 3 ชนิดให้แก่เกษตรกรอย่างเร่งด่วนก่อนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีแปลงของเกษตรกรที่ได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืช GAP รวมจำนวนทั้งสิ้น 230,574 แปลง คิด เป็นพื้นที่จำนวน 1,517,640 ไร่ ส่วนโรงงานผลิตสินค้าพืชที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามมาตรฐาน GMP มีจำนวนทั้งสิ้น 1,841 โรงงาน

“มาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้ไม่ต้องการให้เกิดความยุ่งยากในการส่งออกแต่ต้องการให้ประเทศคู่ค้าเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลไม้ไทย ซึ่งคุณภาพเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถรักษาตลาดส่งออกผลไม้ของประเทศไว้ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรเร่งสมัครเข้าสู่การรับรองตามมาตรฐาน GAP ได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขต โดยกรมจะเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เร่งตรวจรับรองให้เกษตรกรได้รับการรับรองโดยเร็วและให้มากที่สุด ซึ่งในปี 2565 กรมวิชาการเกษตรได้ตั้งเป้าหมายในการตรวจรับรองแปลง GAP ไว้ทั้งหมด 150,000 แปลง” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

การอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล