การทำลายของหนอนกระทู้หอมในถั่วเขียว

                                                              ศิริวรรณ อำพันฉาย  นักวิชาการเกษตรชำนาญการ 

การปลูกถั่วเขียวในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์นิยมปลูกเป็นพืชรองในระบบปลูกพืชที่มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวเป็นพืชหลัก การปลูกในพื้นทีดอนจะเป็นการปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คือ ช่วงปลายสิงหาคม เป็นการปลูกปลายฤดูฝน ส่วนการปลูกในพื้นที่นา จะเป็นการปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีช่วงฤดูแล้ง และช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูก ถั่วเขียวในฤดูแล้งของจังหวัดเพชรบูรณ์ คือช่วงกลางธันวาคมถึงกลางมกราคม
การปลูกล่าช้ากว่าช่วงเวลานี้ จะส่งผลต่อการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชในระยะออกดอก ซึ่งถั่วเขียวจะเริ่มออกดอก ที่อายุประมาณ 32-36  วัน หากมีการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชในช่วงออกดอก   การพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงบางชนิดอาจทำให้ดอกร่วงได้  และไม่ทันเวลา ทำให้ถั่วเขียวติดฝักน้อย หรือไม่ติดฝักเลย 

ฤดูแล้งปี 2562/63 พบการเข้าทำลายของหนอนกระทู้หอมในถั่วเขียวหลายพื้นที่ ได้แก่ อำเภอเมือง หนองไผ่ และหล่มสัก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเขียวในฤดูแล้งที่สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ การเข้าทำลายของหนอนกระทู้หอมจะพบมากในฤดูแล้ง หรือระยะที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน

          หนอนกระทู้หอมเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญมาก ทำความเสียหายแก่พืชหลายชนิด โดยเฉพาะถั่วเขียวที่ปลูกหลังนา หนอนจะกัดกินส่วนต่างๆของพืชตั้งแต่ ใบ ดอกและฝัก หรือเจาะเข้าไปในฝักถั่ว ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงและรวดเร็ว  หนอนกระทู้หอมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าว่าหนอนหนังเหนียว สารฆ่าแมลงส่วนใหญ่ไม่สามารถป้องกันกำจัดได้  หากมีการใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง รวมถึงการฉีดพ่นในช่วงที่ที่หนอนมีขนาดโตขึ้น จะเสียเวลา สิ้นเปลือง และการป้องกันกำจัดไม่ได้ อาจทำให้ผลผลิตเสียหาย

          หนอนกระทู้หอมมีลำตัวยาวคล้ายหนอนเจาะสมอฝ้าย ผนังลำตัวเรียบเป็นมันเมื่อโตเต็มที่ มีหลายสี ตั้งแต่สีเขียวอ่อน เทา หรือน้ำตาลดำ ด้านข้างจะมีแถบสีขาวข้างละแถบพาดตามลำตัว ผีเสื้อขอบวางไข่ช่วงตอนเย็น โดยวางเป็นกลุ่มๆ ด้านบน และใต้ใบ มีจำนวน 20-80 ฟอง มีใยสีขาวปกคลุกกลุ่มไข่ มองเห็นได้ชัดเจน ในสภาพธรรมชาติไข่ฟักไม่เกิน 3 วัน แต่ถ้าอุณหภูมิและความชื้นสูงจะเร็วกว่านี้ หนอนกระทู้หอมเมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม แทะกินผิวใบด้านล่างจนกระทั้ง หนอนเข้าวัยที่ 3 จึงแยกกันออกไปทำลายพืชทั่วแปลง โดยหนอนจะลอกคราบ 5 ครั้ง (5 วัย) จึงจะโตเต็มที่ และเข้าดักแด้ อยู่ในดินลึก 1-2 เซนติเมตร แล้วกลายเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลางสีน้ำตาลแก่ปนเทา กางปีกว้าง 2.0-2.5 เซนติเมตร ลักษณะเด่นของผีเสื้อชนิดนี้ คือ จุดสีน้ำตาลอ่อน 2 จุด ตรงกลางปีคู่หน้า ชอบหลบซ่อนตัวตามต้นพืชบริเวณใต้ใบหรือตามพุ่มไม้หนา

ที่มา: แมลงศัตรูถั่วเขียวและการป้องกันกำจัด กลุ่มงานวิจัยแมลงศัตรูพืชน้ำมันและพืชไร่ตระกูลถั่ว กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร

                แมลงศัตรูผัก เห็ด และไม้ดอก กลุ่มบริหารศัตรูพืช/กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *