1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. อธิบดีรพีภัทร์ นำเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร “นาข้าว…

อธิบดีรพีภัทร์ นำเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร “นาข้าวยุคใหม่ ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ไม่เผา เราทำได้” ร่วมงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) “ชาวนายุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ…ลด และงดการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร”

นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) “ชาวนายุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพลด และงดการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืน ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ โอกาสนี้ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวรายงาน และ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ แนวทางการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืนโอกาสนี้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมในพิธี โดยมีเกษตรกรและผู้เข้าร่วมงานเข้าร่วมกว่า 5,000 คน และมีการจัดนิทรรศการของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

กรมวิชาการเกษตรร่วมจัดนิทรรศการ นาข้าวยุคใหม่ ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ไม่เผา เราทำได้ ให้ความรู้แก่เกษตรกร เริ่มตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูกข้าว เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว จนกระทั่งหลังเก็บเกี่ยว

การเตรียมแปลงปลูกข้าว โดยใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซัง หว่านหัวเชื้อจุลินทรีย์ อัตราหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1.5 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยยูเรียอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อย่อยสลายตอซังและฟางข้าวภายในระยะเวลา 7 วัน ซึ่งช่วยเร่งระยะเวลาการย่อยสลายให้เร็วขึ้น ลดการเผาฟางที่จะก่อให้เกิดมลพิษ ลดภาวะโลกร้อนและการทำลายสมดุลธรรมชาติ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน

การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนหว่าน อัตราการใช้ คลุกเชื้อสด 250 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ลดความเสียหายจากการเข้าทำลายของโรคทางดิน ช่วยการเจริญของพืชทางระบบราก ส่งเสริมการงอกของเมล็ด

การใช้ปุ๋ยพีจีพีอาร์ทู (PGPR II) ในนาข้าว โดยการคลุกเมล็ดก่อนปลูก หรือใช้กับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยเคมีรองพื้น 1 ถุง ผสมกับปุ๋ยหมัก 250 กก.ต่อพื้นที่ 1 ไร่ หรือใช้คลุกกับปุ๋ยเคมีรองพื้นพร้อมปลูก โดยใช้ 1 ถุงต่อปุ๋ยเคมี    15-20 กก.ต่อไร่ ทำให้ต้นข้าวแข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพในการดูดปุ๋ย ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าว 10% ลดการใช้ปุ๋ยเคมี 25%

แหนแดง ใช้ในนาข้าว โดยนำไปหว่าน 2 ช่วง ช่วงแรก หว่านแหนแดงก่อนตีเทือก เพื่อให้แหนแดงเพาะขยายในท้องนา ประมาณ 20 วัน แล้วไถกลบ อีกช่วงหนึ่ง ถ้าเป็นนาดำ ให้ดำนาไปก่อน แล้วหว่านแหนแดงลงไปในนา     จนขยายพันธุ์เต็มท้องนา แหนแดงจะช่วยบดบังแสงแดด ป้องกันวัชพืช ข้าววัชพืช ข้าวลีบ หรือข้าวดีด และช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน ลดค่าใช้จ่ายปุ๋ยเคมี เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมีของพืช แหนแดงมีโปรตีนสูง สามารถใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับเลี้ยงสัตว์ ลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารสัตว์ได้

การใช้ประโยชน์จากฟางข้าว ฟางข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยว สามารถนำมาใช้ในการเพาะเห็ดฟาง และ เห็ดนางรมได้ เป็นการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือใช้ทางการเกษตร นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำเห็ดพันธุ์ดี ได้แก่ เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช.1 และเห็ดสกุลนางรม สร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร

1.เห็ดฟาง พันธุ์ กวก. สทช.1 ลักษณะดอกใหญ่ ถ้าเพาะในโรงเรือนให้ผลผลิต 2.2-2.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือถ้าทำเป็นแปลงในพื้นที่200 ตารางวาให้ผลผลิตถึง 300 กิโลกรัม มีราคาจำหน่ายเฉลี่ย 100 บาทต่อกิโลกรัม  สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเพาะเห็ดฟาง อุณหภูมิ 28-38 oC ดังนั้นจึงนิยมเพาะในช่วงที่มีอากาศร้อน

2.เห็ดสกุลนางรม ให้ผลผลิตโดยเฉลี่ย 150 กิโลกรัม ในโรงเรือนขนาด 4×5 เมตร มีราคาจำหน่ายเฉลี่ย เฉลี่ย 80 บาทต่อกิโลกรัม สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเพาะเห็ดนางรม อุณหภูมิ 25-35 oC จะให้ผลผลิตได้ดีในช่วงที่อากาศไม่เย็นมาก

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า ในการเสวนาดังกล่าว ที่ประชุมเห็นควรผลักดันให้ภาครัฐสนับสนุน การใช้จุลินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรแก้ไขปัญหาการลดการเผาตอซังฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร โดยสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม ในเรื่องจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังฟางข้าว เพื่อแก้ปัญหาการลดการเผาตอซังฟางข้าว นอกจากนี้ยังสนับสนุน การใช้ประโยชน์อื่นจากตอซังฟางข้าว ที่ได้จากการเก็บเกี่ยว โดยการนำองค์ความรู้ในการเพาะเห็ด  มาสร้างมูลค่าเพิ่ม จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำเห็ดพันธุ์ดี ได้แก่ เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช.1 และเห็ดสกุลนางรม สร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร

Related
แชท
Skip to content