วันที่ 11 มกราคม 2568 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมเปิดงานและเยี่ยมชมงาน “เจียไต๋ แฟร์ 2025” ณ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งบริษัท เจียไต๋ จำกัด เป็นผู้นำธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรของไทย ภายใต้แนวคิด สมาร์ทฟาร์ม สมาร์ทไลฟ์ ซึ่งภายในงานมีการจัดแสดงสายพันธุ์พืชคุณภาพมากกว่า 600 สายพันธุ์ สาธิตบินโดรนเกษตรแบบไร้คนขับ และเรียนรู้นวัตกรรมเกษตรใหม่ๆ โดยสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 กรมวิชาการเกษตร และบริษัท เจียไต๋ จำกัด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิจัย นวัตกรรม และเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นที่เรียบร้อย ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวทั้ง 2 หน่วยงานจะดำเนินงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเมล็ดพันธุ์ที่ทันสมัย การวิจัยพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมและการทดสอบนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อนำพาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนของโลก



สำหรับงาน “เจียไต๋ แฟร์ 2025” ในครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ ดังนี้
1. การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์และพันธุ์พืชเขตร้อนของโลก (Tropical Seed Hub): วิจัยและส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม ควบคุมระบบการตรวจสอบรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ตามมาตรฐานสากล และปรับปรุงกฎ ระเบียบให้ทันกับสถานการณ์ตลาดโลก

2. การพัฒนาพันธุ์พืชด้วยเทคนิค GEd ให้มีผลผลิตสูง ต้านทานโรค ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม: สร้างเครือข่ายด้านการวิจัยการปรับแต่งจีโนมระดับประเทศ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อรองรับวิกฤตการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลก

3. การเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ลดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง: ใช้พันธุ์ดีมีคุณภาพ สร้างและพัฒนาศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ตามหลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” สู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

4. การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านทรัพยากรบุคคลตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์: สร้างและพัฒนาบุคลากรด้านเมล็ดพันธุ์ สู่การเป็น Tropical Seed Hub ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยสู่ผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ สร้างงาน สร้างรายได้เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

5. การใช้ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม และมาตรฐานการปฏิบัติงานการพ่นสารด้วยอากาศยานไร้คนขับทางการเกษตรอย่างถูกต้องและปลอดภัย


อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่าสำหรับความร่วมมือด้านวิจัย นวัตกรรม และเครื่องจักรกลการเกษตรระหว่างกรมวิชาการเกษตร และเจียไต๋ในครั้งนี้ มีแนวทางความร่วมมือการให้บริการทางการเกษตร (Service Provider) แก่เกษตรกร ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตรที่มีประสิทธิภาพแบบครบวงจร การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักมูลค่าสูงและปลอดภัยในระบบโรงเรือนรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ป้องกันและควบคุมศัตรูพืช การพัฒนาโรงเรือนอัจฉริยะเพื่อทดสอบการผลิตเห็ดเมืองหนาวมูลค่าสูงแบบคาร์บอนต่ำ เช่น เห็ดถั่วฝรั่ง ซึ่งเป็นเห็ดเศรษฐกิจใหม่มูลค่าสูง การใช้สารชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยศัตรูแมลงเพื่อป้องกันและควบคุมด้วงหมัดผักในระบบการผลิตพืชผักกินใบ ตามแนวทางในการผลิตพืชปลอดภัยและอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการร่วมผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Tropical Seed Hub สอดรับกับ นโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และเป็นแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ สร้างงานสร้างอาชีพตามโครงการสกัดการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช เชื้อรา และการสนับสนุนพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ปี 2567/2568 ตามมติคณะรัฐมนตรี

