นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ซึ่งตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร และสารวัตรเกษตร ตรวจตราร้านค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างเข้มงวด หากพบผู้กระทำความผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
วันที่ 8 มกราคม 2568 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สั่งการให้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 โดยนายพนิต หมวกเพชร ผู้อำนวยการกลุ่มควบคุมตามพระราชบัญญัติ สวพ.2 พร้อมด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร ร่วมกับกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 อำนวยการโดย พันเอกรวิรักษ์ สัตตบุศย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช พ.ต.อ.สุทธิเวท บุญยรัตกลิน รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6, พ.ต.อ.อนิวรรตน์ สุรินทร์วงศ์ ผู้กำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจค้น/ตรวจสอบ นำโดยพ.ต.ท.อุเทน รวมสุข รอง ผกก.สืบสวน พ.ต.ท.อัศนันท์ ธนเลิศภูวเวทย์ รอง ผกก.สืบสวน ร.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ ก้าวสินชัย รอง สว.กก.สืบสวน ด.ต.เพทาย ปลูกสร้าง จ.ส.ต.วรวุฒิ ตาศิริ จ.ส.ต.พิพัฒน์ สินปรีดี จ.ส.ต.ภูริวัชน์ พุ่มพวง และ ส.ต.ท.รชต สถาพร ผบ.หมู่ กก.สืบสวน 1 เข้าตรวจสอบร้านเจ๊ปุ๋ยการเกษตร ซึ่งมีนางสาวศุภาขวัญ ยมนา เป็นผู้ดำเนินกิจการ ตั้งอยู่เลขที่ 186 ม.2 ต.คณฑี อ.เมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร พบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ ปุ๋ย พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผลิตปุ๋ยอินทรีย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ จำนวน 8 รายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000,000 บาท
ซึ่งร้านเจ๊ปุ๋ยการเกษตร ดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำความผิดผลิตปุ๋ยอินทรีย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 12 วรรค 1 มีโทษตามมาตรา 57 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ ตามมาตรา 30 (5) มีโทษตามมาตรา 72/4 วรรค 2 ต้องระวางโทษ 1 ใน 4 ของโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จากนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ไปลงบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไว้ และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ย้ำ การเลือกซื้อปุ๋ยให้ได้คุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง เริ่มจากการตรวจฉลากตามข้อกำหนดของกฎหมาย ฉลากบรรจุปุ๋ยต้องเป็นภาษาไทยและต้องแสดงข้อความดังนี้ สูตรปุ๋ย ชื่อการค้า และประเภทของปุ๋ย เครื่องหมายการค้า ทะเบียนปุ๋ย ปริมาณธาตุอาหารรับรอง อินทรียวัตถุรับรอง หรือจุลินทรีย์รับรอง น้ำหนักสุทธิ หรือขนาดบรรจุของปุ๋ยตามระบบเมตริก ระบุที่ตั้งสำนักงาน และสถานที่ผลิตของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ทั้งหมดนี้จะต้องมีบนหีบห่ออย่างชัดเจน และให้พิจารณาจากลักษณะทางกายภาพ ได้แก่ เม็ดปุ๋ยไม่จับตัวกันเป็นก้อนแข็ง เม็ดปุ๋ยเคมีไม่มีลักษณะแตกยุ่ยมีฝุ่น หากเป็นปุ๋ยเคมีเหลว ไม่ตกตะกอน แยกชั้น ภาชนะบรรจุไม่บวม และเสียรูปทรง หากเป็นปุ๋ยชนิดเกล็ด ไม่จับตัวเป็นก้อนแข็ง ไม่มี ความชื้นสูง ข้อความในฉลากไม่เลอะเลือนอ่านไม่ออก
ในส่วนร้านจำหน่ายปุ๋ยต้องมีใบอนุญาตขายปุ๋ย มีป้ายแสดงในที่เปิดเผย เก็บปุ๋ยแยกเป็นสัดส่วนชัดเจน ไม่ปนกับสินค้าที่จะก่อให้เกิดไฟไหม้ได้ และต้องไม่วางปุ๋ยโดยตรงกับพื้น เพื่อป้องกันความชื้น รักษาฉลาก หรือหีบห่อให้ครบถ้วน เก็บปุ๋ยในที่ไม่ถูกแสงแดด มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีอุปกรณ์ดับเพลิงในพื้นที่เก็บปุ๋ย และเป็นร้านที่ได้รับการรับรองการจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ (Q-Shop)
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า รมว.เกษตร ได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตร ปราบปรามพวกมิจฉาชีพที่ผลิต จำหน่ายปัจจัยการผลิตปลอม ทั้งปุ๋ย วัตถุอันตราย หลอกขายเกษตรกร และได้มีมาตรการ เรื่อง การปราบปรามสินค้าเกษตรในพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น โรงคัดบรรจุทุเรียน โดยใช้มาตรการ 4 ไม่ คือ ไม่อ่อน ไม่หนอน ไม่สวมสิทธิ์ ไม่มีสีไม่มีสาร โดยมอบเป็นนโยบายเร่งด่วนให้ดำเนินการทันที เพื่อไม่ให้เกษตรกรโดนเอาเปรียบ พร้อมกับสั่งการให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากเกษตรกร หรือผู้ที่ทราบเบาะแสการกระทำความผิดดังกล่าว ขอให้แจ้งได้ที่สายด่วน 1174 เพื่อจะได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรเข้าไปดำเนินการตรวจสอบต่อไป