นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ และเป็นครัวของโลก ได้มีแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตร ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางภาคเกษตรและอาหารของโลก ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนพัฒนาการดำเนินงานให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง ภาวะโลกเดือด หรือศัตรูพืชอุบัติใหม่ โดยภาครัฐมีหน้าที่วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือหาแนวทางในการป้องกันและดูแลที่เหมาะสมสำหรับภาคการเกษตรให้รอดพ้นในทุกสถานการณ์ ซึ่งศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ กรมวิชาการเกษตร เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็น Seed hub ซึ่งเทคโนโลยีจีโนม (Gene Editing) หรือ GEd จะช่วยยกระดับรายได้ 3 เท่าของ 4 ปี ของเกษตรกรไทยได้อย่างแท้จริง
เทคโนโลยี GEd เป็นเทคนิคในการปรับเปลี่ยนและแก้ไขรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ที่มีความจำเพาะและแม่นยำ หรือแก้ไขให้ได้ยีนที่มีลักษณะตามต้องการ ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs มีความปลอดภัยสูง มีศักยภาพ ใช้ระยะเวลาสั้น ต้นทุนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการประกาศใช้นโยบาย no transgene = not GMOs โดยถือว่าพืช GEd มีความปลอดภัยเช่นเดียวกับพืชปกติทั่วไป ซึ่งองค์กรนานาชาติ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ให้การยอมรับและสนับสนุน ที่สำคัญหลายประเทศทั่วโลกได้เร่งลงทุนงานวิจัยพัฒนาและอนุมัติการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd ในเชิงการค้าและการบริโภค อาทิ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลีญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์เคนยา รัสเซีย และออสเตรเลีย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำหรับพืชจากเทคโนโลยี GEd ที่ได้รับการอนุมัติใช้ประโยชน์ เพื่อรองรับวิกฤตการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลก ได้แก่ มะเขือเทศ (ญี่ปุ่น) ถั่วเหลือง (สหรัฐอเมริกา) กล้วย (ฟิลิปปินส์) ทั้งนี้ยังมีพืชที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติเชิงพาณิชย์หรืออยู่ในขั้นการศึกษาวิจัย เช่น มันฝรั่งปรับแต่งจีโนมต้านทานโรค (สหรัฐอเมริกา), ถั่วเหลืองโปรตีนสูงปรับแต่งจีโนมและมะเขือเทศปรับแต่งจีโนมทนแล้งและเพิ่มผลผลิต (จีน) เป็นต้น ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยี GEd คือ สามารถแก้ไขรหัสพันธุกรรมของยีนเป้าหมายได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว สามารถปรับปรุงให้พืชมีความแข็งแรงทนทานต่อภัยคุกคามด้านสภาพภูมิอากาศและศัตรูพืชอุบัติใหม่ ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและปุ๋ย อีกทั้งช่วยทำให้ผลผลิตมีปริมาณสูงและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและรองรับวิกฤตโลกเดือด
สำหรับในด้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยการปรับแต่งจีโนมระดับประเทศ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและภาคราชการต่างๆ เพื่อสร้างพืช GEd ทดแทนการนำเข้า เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง พืช GEd พลังงาน เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน รวมถึงพืช Ged ผักและสมุนไพร พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ส่วนในระดับนานาชาติ กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมความพร้อมสร้างความร่วมมือและเครือข่ายกับต่างประเทศ ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี GEd เพื่อพัฒนาสายพันธุ์พืช GEd และพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยกับสถาบันในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น
“แนวทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม กรมวิชาการเกษตรได้ผสานความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ส่งเสริมในด้านการวิจัยและการกำกับดูแล เพื่อพัฒนาสิ่งมีชีวิตที่ได้จากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม สู่การใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ยกระดับพัฒนาศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตรของประเทศ ให้สามารถรองรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาวะโลกเดือดที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก พร้อมสนับสนุนเร่งวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยี GEd โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณวิจัย สวก. และ สกสว. ในการส่งเสริมพัฒนานักวิจัยไทยไปเรียนรู้เทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกา รวมถึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีในการพัฒนาทดสอบในสภาพแปลงทดลอง ซึ่งคาดว่าในปี 2568 จะสามารถนำร่องขับเคลื่อนด้านการกำกับดูแลได้อย่างเป็นรูปธรรม” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว