1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. กรมวิชาการเกษตร จัดยิ่งใหญ่ งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี…

กรมวิชาการเกษตร จัดยิ่งใหญ่ งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืช ภาคเหนือตอนบน “นวัตกรรมก้าวหน้า วิชาการก้าวไกล เกษตรไทยมั่นคง” ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืช 3 โซน ตาม Concept : ING Model

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตร ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย มุ่งสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับรายได้ภาคการเกษตรของเกษตรกรให้สูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยในวันที่ 27 ธันวาคม 2567 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดงานงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตพืชภาคเหนือตอนบน ประจำปี 2568 “นวัตกรรมก้าวหน้า วิชาการก้าวไกล เกษตรไทยมั่นคง” โดยมีนายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวต้อนรับ และมีการมอบใบรับรอง GAP PM 2.5 FREE Plus แก่เกษตรกร 6 ราย มอบต้นพันธุ์ลิ้นจี่แก่ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ 4 ราย ณ ถนนชายกว๊านพะเยา ต.เวียง อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา

กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชภาคเหนือตอนบน เพื่อขับเคลื่อนผลสำเร็จของงานวิจัย และนวัตกรรมที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สกสว. สู่เกษตรกร โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรระดับพื้นที่ รวมทั้งเป็นโอกาสอันดีในการกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยาและพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่มีเสน่ห์ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตร วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือฟื้นฟูสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา

ภายในงานกรมวิชาการเกษตรได้นำเสนอนวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิตพืช 3 โซน ตาม Concept : ING Model ดังนี้

Zone 1: Increase Productivity การใช้พันธุ์ดี มีคุณภาพ การพัฒนาพันธุ์ให้มีผลผลิตสูง ต้นทานโรค ทนต่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ประกอบด้วย 3 เรื่อง

1.การพัฒนาพันธุ์พืชสู่ความมั่นคงทางอาหาร พันธุ์และเทคโนโลยีเด่น ๆ ดังนี้

          พืชไร่ : ถั่วเหลืองพันธุ์ กวก.เชียงใหม่ 7 ถั่วเหลืองฝักยาวสด กวก.เชียงใหม่ 84-2 อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ กวก. สุพรรณบุรี 1

          พืชสวน : กาแฟอะราบิกาพันธุ์ กวก. เชียงราย 1 กาแฟอะราบิกาพันธุ์ กวก. เชียงราย 2 กาแฟอะราบิกาพันธุ์ กวก. เชียงใหม่ 1 ลิ้นจี่ พันธุ์ผ่องเพทาย ลิ้นจี่พันธุ์แก้วมาลูน มะนาวพันธุ์ กวก. พิจิตร 2 ส้มโอพันธุ์ กวก. พิจิตร 1 หน้าวัว ถั่วฝักยาวสีม่วง กวก. พิจิตร 1 ฟ้าทะลายโจร ปทุมมา มันเทศพันธุ์ กวก. พิจิตร 3

          เห็ด : เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช 1 เห็ดเป๋าฮื้อพันธุ์ กวก. สทช 1 เห็ดถั่วฝรั่งพันธุ์ กวก. สทช 1 เห็ดภูฏานลูนผสมพันธุ์ กวก. สทช 1

2. DOA modern Seed เมล็ดพันธุ์พืชสมัยใหม่พัฒนาสู่ Hub โลก การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์และพันธุ์พืชเขตร้อนของโลก (Tropical Seed Hub) ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ และการตรวจสอบรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชตามมาตรฐานสากล และแนวทางการพัฒนาเป็น Seed Hub

3.การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า สู่การสร้างรายได้

Zone 2: New Technology Innovation เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดแรงงาน การใช้ระบบ IoT/อัตโนมัติสั่งการอย่างแม่นยำ จัดการน้ำ ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน/พืช ประกอบด้วย 2 เรื่อง

1.นวัตกรรมพืชไร่ เพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน : โมเดลต้นแบบการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบ Low carbon  โมเดลต้นแบบการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบ Low carbon  และโมเดลจำลองการให้น้ำถั่วเหลืองแบบอัตโนมัติ

2.จุดประกายพลังวิจัย เครื่องจักรกลเกษตรไทยเป็นหนึ่ง นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับกาแฟครบวงจร ได้แก่ เครื่องมือเก็บเกี่ยวกาแฟ เครื่องล้างทำความสะอาดผลกาแฟ เครื่องคัดแยกเมล็ดกาแฟเมือก เครื่องสีกาแฟแห้ง โมเดลเครื่องอบแบบพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องคัดแยกน้ำหนักตามความหนาแน่นของเมล็ดกาแฟ และเครื่องคั่วกาแฟ

Zone 3 :  Green Management การผลิตตามเกณฑ์มาตรฐาน และการใช้สารเคมีในระดับปลอดภัย การใช้สารชีวภัณฑ์/ปุ๋ยชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมี การใช้พลังงานสะอาด เพิ่มความยั่งยืนในระบบเกษตรด้วยนโยบาย 3R ประกอบด้วย 3 เรื่อง

1.เทคโนโลยีการใช้เชื้อจุลินทรีย์ควบคุมโรคและแมลง เทคโนโลยีการใช้เชื้อราบิวเวอเรีย ไอโซเลท DOA-B18 ควบคุมมอดเจาะผลกาแฟ เทคโนโลยีการใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีในการควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียน การขยายศูนย์เครือข่ายมวนตัวห้ำ สารสกัดจากสารธรรมชาติ การนำพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์มาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช และเทคโนโลยีการฟื้นฟูการระบาดของโรคและแมลงศัตรูหลังน้ำลด

2. Wolffia: พืชจิ๋วมหัศจรรย์ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคต ไข่ผำ หรือ Wolffia “ซูเปอร์ฟู้ด” หรือ “อาหารแห่งอนาคต” และโปรตีนทางเลือกใหม่ (Alternative Protein) งานวิจัยด้านโปรตีน ได้แก่ โปรตีนจากพืช และแมลง เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์

3.เทคโนโลยีการปลูกกาแฟเพิ่มรายได้ ขับเคลื่อนแนวทาง โดยใช้แนวทาง 3R ลดปัญหาฝุ่นควันภาคเกษตรอย่างยั่งยืนภายใต้มาตรฐาน GAP PM 2.5 Free และโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตร    และการประเมินคาร์บอนเครดิตในพืชเศรษฐกิจสำคัญ

นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังจัดกิจกรรมเวทีสาธิต ได้แก่ การแปรรูปโกโก้ (ศวพ.แม่ฮ่องสอน) การขยายพันธุ์หน้าวัว (ศวพ.ลำปาง) การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากอินทผาลัม (ศวพ.เชียงใหม่) การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากงาม้อน (ศวพ.น่าน) การแปรรูปมะขามป้อม กลอย และการย้อมหม้อห้อม (ศวพ.แพร่) การชงกาแฟ ดริป (ศวพ.กส.ชร) การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร (ศวส.เชียงราย) การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ถั่วเขียว แปรรูปน้ำอ้อยคั้นน้ำ (ศวร.ชม., ศวร.ชัยนาท, ศวร.สุพรรณบุรี) การตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชอย่างง่าย (ศวม.เชียงใหม่) การคัดเกรดเมล็ดกาแฟคุณภาพ (ศกล.เชียงใหม่) การคัดความหนาแน่นเมล็ดกาแฟ/คั่วกาแฟ (ศวศ.เชียงใหม่) และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากกล้วยไม้ (สวส.)

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชภาคเหนือตอนบนในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้เห็นผลงานด้านการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งพี่น้องเกษตรกรและประชาชนจะได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเรียนรู้ การฝึกทำ โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริการด้านการเกษตรสมัยใหม่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างงานด้านการเกษตร ขยายแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

Related
แชท
Skip to content