นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร เล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลิตพืชผัก ผลไม้ปลอดภัยโดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรขับเคลื่อนนโยบายผัก ผลไม้ ต้องมีคุณภาพได้มาตรฐานและปลอดภัย สำหรับการบริโภคทั้งในประเทศและการส่งออก โดยนอกเหนือจากการส่งออกทุเรียนตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร หรือ GAP แล้ว “ทุเรียนอินทรีย์” ยังเป็นอีกหนึ่งในสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่กรมวิชาการเกษตรให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี (สวพ.6) ดำเนินการวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยและพัฒนาการผลิตพืชอินทรีย์เพื่อเพิ่มศักยภาพและขยายผลในพื้นที่ภาคตะวันออก โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนอินทรีย์พื้นที่จังหวัดจันทบุรี
นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กล่าวว่า ระหว่างปี 2565-2567 สวพ.6 ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการผลิตทุเรียนอินทรีย์ทั้งในระยะต้นเล็กก่อนให้ผลผลิต และระยะให้ผลผลิต โดยสร้างแปลงต้นแบบจำนวน 8 แปลง และทดสอบเทคโนโลยีแนะนำเปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกร พบว่าวิธีการที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตทุเรียนอินทรีย์ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีผลวิเคราะห์สมบัติทางเคมีของดิน ค่าอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียมและแมกนีเซียม ต่ำกว่าค่าที่เหมาะสม ไม่เคยตัดแต่งกิ่งและฉีดพ่นฮอร์โมนพืช จากการพิจารณาค่าวิเคราะห์ดินและใบทุเรียนร่วมกับวิธีจัดการสวน จึงใช้เทคโนโลยีการตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยว เพิ่มธาตุอาหารในดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ที่หลากหลายและสารปรับปรุงดิน เพิ่มฮอร์โมนพืช โดยใส่ตามระยะการพัฒนาของพืชทุเรียน ได้แก่ ระยะบำรุงต้นหลังเก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยหมักมูลไก่แกลบระบบเติมอากาศ 20 กก./ต้น 2-3 ครั้ง โดโลไมท์ 2 กก./ต้น 1 ครั้ง มูลค้างคาว 5 กก./ต้น 2 ครั้ง ราดทรงพุ่มด้วยน้ำหมักมูลไก่แกลบ 200-400 มล./20 ล. เดือนละ 1 ครั้ง ระยะก่อนออกดอกถึงติดผล ใส่ปุ๋ยหมักมูลไก่แกลบ 20 กก./ต้น 1 ครั้ง มูลค้างคาว 5 กก./ต้น 1 ครั้ง ราดทรงพุ่มด้วยฮอร์โมนไข่ 50 มล./20 ล. 2 ครั้ง ตัดแต่งดอกและผลอ่อน ระยะการพัฒนาของผล ใส่ปุ๋ยหมักมูลไก่แกลบ 20 กก./ต้น 1-2 ครั้ง มูลค้างคาว 5 กก./ต้น 1 ครั้ง ปุ๋ยอินทรีย์เอกชน 5-10 กก./ต้น 1-2 ครั้ง ราดทรงพุ่มด้วยฮอร์โมนไข่ 50 มล./20 ล. 2 ครั้ง สามารถปรับลดปริมาณและจำนวนครั้งที่ใส่ปุ๋ยได้ โดยพิจารณาตามขนาดทรงพุ่มและปริมาณผลผลิต
เพื่อเป็นการขยายผลเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิตทุเรียนอินทรีย์ สวพ.6 จึงได้จัดฝึกอบรมหลักสูตร “เทคโนโลยีการผลิตทุเรียนอินทรีย์” โดยการถ่ายทอดผลงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาระบบการ ผลิตทุเรียนอินทรีย์พื้นที่จังหวัดจันทบุรี ให้กับเกษตรกรผู้สนใจได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตไม้ผลอินทรีย์สวนตนเอง รวมถึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตพืชอินทรีย์ นำโดย นายรัฐไท พงษ์ศักดิ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรเพื่อสุขภาพบ้านปัถวี และอาจารย์ ดร.เข็มชาติ เชยชม มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ผลสืบเนื่องจากการฝึกอบรมทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และปัจจัยการผลิตพืชอินทรีย์ ในพื้นที่ภาคตะวันออก จนเกิดการขับเคลื่อนสร้างเครือข่าย กลุ่มผู้ผลิตทุเรียนอินทรีย์ เตรียมยกระดับจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ทุเรียนอินทรีย์ โดยการรวมกลุ่มจดทะเบียนสร้างกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนอินทรีย์จังหวัดจันทบุรีขึ้นเป็นครั้งแรกในภาคตะวันออก ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่เกษตรกรได้รวมกลุ่มจัดตั้งแปลงใหญ่ทุเรียนอินทรีย์จังหวัดจันทบุรี จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายผลจากงานวิจัยภายใต้โครงการของกรมวิชาการเกษตรเพื่อขับเคลื่อนการผลิตพืชอินทรีย์จังหวัดจันทบุรี และต่อยอดสู่การตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ สร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน
“นอกจากนี้ สวพ.6 ยังได้วิจัยและพัฒนาการแปรรูปทุเรียนอินทรีย์ โดยจัดฝึกอบรมด้านการแปรรูปและการตลาดสินค้าออนไลน์ สอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ชิฟฟ่อน หม้อแกงทุเรียน คัพเค้กหน้าซอสทุเรียน ทาร์ตไส้ทุเรียนกวน และไอศกรีมทุเรียน รวมทั้งยังนำเกษตรกรไปศึกษาดูงานแหล่งแปรรูปทุเรียน ได้เรียนรู้เทคนิคและอุปกรณ์การแปรรูปทุเรียนทอด สาธิตวิธีการผลิตน้ำทุเรียน และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำทุเรียน เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เรียนรู้เรื่องการตลาดออนไลน์ ฝึกปฏิบัติเทคนิคการถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ และการสร้างหน้าร้านออนไลน์ ซึ่งเกษตรกรนำความรู้มาต่อยอดการแปรรูปไอศกรีมทุเรียนและพัฒนาเป็นสูตรของตนเองจำหน่ายสร้างรายได้ในครัวเรือนด้วย” ผอ.สวพ.6 กล่าว