นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายเร่งด่วนให้ขับเคลื่อน นโยบายผลไม้ปลอดภัย มีคุณภาพ สำหรับการบริโภคในประเทศ และส่งออก จึงมอบหมายให้ กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ พันเอกรวิรักษ์ สัตตบุศย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช (ฉก.พญานาคราช) เร่งตรวจสอบติดตามกระบวนการคัดบรรจุทุเรียนไทยต้องปลอดภัย ได้คุณภาพ ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตถูกต้อง ตามมาตรฐาน
เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ร่วมกับ หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช ตรวจสอบการใช้สารเคมีในการคัดบรรจุทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชุมพร จากการลงพื้นที่พบโรงคัดบรรจุทุเรียน จำนวน 6 ล้ง ใช้สารเคมีที่ไม่ได้ให้ใช้กับโรงคัดบรรจุ เป็นกลุ่มสาร กำจัดเชื้อรา และโรคพืช ขึ้นทะเบียนถูกต้อง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งให้ใช้ได้ในแปลงผลิตเท่านั้น รวมถึงพบสีผสมอาหารที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนผสมน้ำชุบผลทุเรียน ไม่สอดคล้องตามข้อกำหนดมาตรฐาน GMP และเงื่อนไขการนำเข้าของประเทศคู่ค้ารวมถึงประกาศกรมวิชาการเกษตรจึงสั่งให้ล้งจำนวน 5 ล้ง ดังกล่าว ปรับปรุงแก้ไขภายใน 30 วัน และถอนใบทะเบียน DoA 1 ล้ง เนื่องจากกระทำผิดเงื่อนไขตามพิธีสารไทย-จีน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่าสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง (สปษ.ปักกิ่ง) แจ้งว่าสำนักงานศุลกากรจีนแจ้งการตรวจพบปัญหาตรวจพบมีปัญหาสารตกค้าง ในผลไม้สดไทยโดยตรวจพบทั้งสารปราบศัตรูพืชเกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งศุลกากรจีนได้สั่งระงับการส่งออกของสวนและล้งที่คัดบรรจุทันที นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่าหน่วยงานกำกับและดูแลตลาด (State Administration for Market Regulation, SAMR) ในเมืองและมณฑลต่างๆ ของจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลสินค้าที่มีการจำหน่ายภายในประเทศจีน ได้มีการสุ่มตัวอย่างอาหารในท้องตลาดที่มีการจำหน่ายไปตรวจสอบด้านความปลอดภัยของอาหารเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจากการตรวจสอบติดตามกระบวนการผลิตทุเรียนในโรงคัดบรรจุตามนโยบายอาหารปลอดภัย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่ามาการใช้สารเคมีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในการชุบทุเรียน ตามที่เคยเป็นกระแสข่าว ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้มีการแก้ไขประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เพื่อเน้นกระบวนการผลิตให้มีความปลอดภัย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่ากรมวิชาการเกษตรได้เร่งหารือกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร หน่วยรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช (CB) ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ให้การรับรองแก่ผู้ประกอบการ การรวบรวมและการบรรจุหีบห่อของโรงงานผลิตสินค้าพืชผัก และผลไม้ จนถึงการส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้า ต้องเพิ่มควรความเข้มงวดในการกำกับดูแล ตรวจติดตาม ตรวจสอบย้อนกลับการกักกันกำจัดศัตรูพืชตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตให้เพิ่มความสามารถนำไปปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องรองรับการบังคับใช่้มาตรฐสนทุเรียนบังคับลดปัญหาการแจ้งเตือนตลอดจนการเตรียมความพร้อมเพื่อรับการตรวจประเมินจากสำนักงานศุลกากรจีนGACC ได้ต่อไป
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังจัดชุดเสริมเข้าไปสุ่มตรวจติดตามความพร้อมของสถานประกอบการส่งออกพืชผัก ผลไม้ เพื่อตรวจสอบว่าสถานประกอบการเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการรับรอง หากพบปัญหาจะแจ้งไปที่ มกอช. และหน่วยรับรอง (CB) ที่ให้การรับรอง GMPสอดคล้องกับพิธีสารไทยจีน ซึ่ง รมว.เกษตร ไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมเจรจา GACC เพื่อขอความสนับสนุนในการส่งออกผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน ดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตร เน้นย้ำผัก ผลไม้ และอาหาร ต้องปลอดภัย และมีคุณภาพ สำหรับการบริโภคในประเทศ และส่งออก