1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. กรมวิชาการเกษตร Kick off สารวัตร GMP ตรวจโรงงานผลิ…

กรมวิชาการเกษตร Kick off สารวัตร GMP ตรวจโรงงานผลิตสินค้าพืช ออกมาตรการควบคุม กำกับ ดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตร เน้นย้ำ นโยบาย รมว.เกษตร ผัก ผลไม้ และอาหารต้องปลอดภัยและมีคุณภาพ สำหรับการบริโภคในประเทศ และส่งออก

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เดือน ม.ค.-ต.ค. 2567 ปริมาณการส่งออกทุเรียน มังคุด ลำไย ไปจีน คิดเป็นปริมาณ 1,253,208.1 ตัน มูลค่ากว่า 130,372.7 ล้านบาท ซึ่ง ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายเร่งด่วนให้ขับเคลื่อนนโยบายผัก ผลไม้ และอาหารต้องปลอดภัยและมีคุณภาพ สำหรับการบริโภคในประเทศ และส่งออก

ซึ่งในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ตนได้ลงพื้นที่พร้อมด้วย ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่เกี่ยวข้อง  หัวหน้าด่านตรวจพืช เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ตรวจติดตามการปรับปรุงแก้ไขระบบการผลิต และคุณภาพสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สด ด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (มกษ. 1004-2557) Kick off สารวัตร GMP ตรวจโรงงานผลิตสินค้าพืชโดยเป็นการบูรณาการหลายหน่วยงานทั้ง กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หน่วยรับรอง ห้องปฏิบัติการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ โรงงานผลิตสินค้าพืชนายประทีป ธรรมลัย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

กรมวิชาการเกษตรดำเนินการกำกับ ดูแลการผลิตสินค้าเกษตร ให้มีความปลอดภัย และคุณภาพ ตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงผู้บริโภค โดยตรวจสอบรับรอง/ขึ้นทะเบียนแหล่งผลิตพืช และโรงงานผลิตสินค้าพืช ตรวจวิเคราะห์สินค้าพืช ออกใบรับรองสุขอนามัยพืช แม้ว่าปัจจุบันจะมีการถ่ายโอนภารกิจ ในการตรวจสอบรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช ตามหลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหาร: การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี (GMP) รวมทั้ง การวิเคราะห์อันตราย และจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิต (HACCP) ให้กับหน่วยรับรองภาคเอกชนไปดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 แล้วก็ตาม

กรมวิชาการเกษตรได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ควบคุม กำกับ โดยมีการออกประกาศกรมวิชาการเกษตร 4 ฉบับ

  1. ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนหน่วยรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2558 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนหน่วยรับรองภาคเอกชนให้ดำเนินการตรวจประเมิน และให้การรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช ภายใต้กฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตร มีหน่วยรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืชได้รับการขึ้นทะเบียน 21 หน่วย
  2. ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนหน่วยรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เพื่อให้การควบคุม กำกับ ดูแลโรงงานผลิตสินค้าพืชเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีโรงงานผลิตสินค้าพืชได้รับการขึ้นทะเบียนจำนวน 2,307 โรงงาน
  3. ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขควบคุม กำกับ ดูแลห้องปฏิบัติการทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารด้านพืช พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยอมรับความสามารถให้ทดสอบและออกรายงานผล เพื่อประกอบการขอรับใบรับรองสุขอนามัย มีห้องปฏิบัติการทดสอบที่กรมวิชาการเกษตรให้การยอมรับความสามารถ จำนวน 24 ห้องปฏิบัติการ
  4. ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะ พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขขึ้นทะเบียนเป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะตามหลักเกณฑ์ วิธีการสุ่มเก็บตัวอย่างที่กำหนด มีหน่วยงานขึ้นทะเบียนเป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่าง จำนวน 7 บริษัท

ประกาศกรมวิชาการเกษตรข้างต้น ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการควบคุม กำกับ ดูแลการตรวจสอบรับรองมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าพืชให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2566-2567 ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตร และอาหารที่สำคัญของไทยได้ยกระดับความปลอดภัยอาหาร เพื่อความเข้มงวดในการตรวจสอบการปนเปื้อน สารตกค้าง ในสินค้าผัก ผลไม้นำเข้า หากมีการพบศัตรูพืช หรือปัญหาด้านความปลอดภัยอาหารในสินค้าจะมีการแจ้งเตือน หรือให้ระงับการส่งออกของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องชั่วคราวทันที ซึ่งประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือนการตรวจพบโลหะหนักแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานในทุเรียน การตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ตกค้างเกินค่ามาตรฐานในลำไย การตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ในทุเรียนแช่แข็ง เป็นต้น

กรมวิชาเกษตรได้เร่งดำเนินการตรวจสอบสาเหตุสินค้า ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน และเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องใช้มาตรการปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุม กำกับ ตรวจสอบและทดสอบ ทั้งระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำดังนี้

1.มาตรการในการควบคุมกำกับดูแลโรงงานผลิตสินค้าพืชที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร

1.1 หนังสือแจ้งเตือนหรือพักใช้การขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช

1.2 ระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช สำหรับโรงงานผลิตสินค้าพืชที่พบปัญหาชั่วคราว

1.3 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ โรงงานผลิตสินค้าพืชที่พบปัญหาพร้อมกำชับโรงงานผลิตสินค้าพืชทุกโรงรักษามาตรฐานที่ได้รับการรับรองอย่างเคร่งครัด

1.4 บูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช และหน่วยงานภาคอื่นที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุกทุกขั้นตอนร่วมกัน รวมทั้งประสานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขเข้มงวดในการสุ่มตรวจแคดเมียมในสินค้าทุเรียนผลสดนำเข้าจากต่างประเทศ โดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้แต่งตั้งคณะทำงาน ควบคุม กำกับ ดูแลและตรวจสอบย้อนกลับ พืช/ผัก และผลไม้คุณภาพ  เพื่อควบคุมกำกับ ดูแล ตรวจสอบย้อนกลับ พืช/ผัก และผลไม้คุณภาพทั้งระบบ

1.5 จัดทำประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 เพื่อควบคุมการใช้สารเคมีโดยเฉพาะสารเคมีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องหากมีการฝ่าฝืนต้องระงับ มาตรการในการระงับ หรือสั่งยกเลิกหนังสือสำคัญการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชเป็นหนังสือ โดยผู้ได้รับหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่ได้รับแจ้งจากกรมวิชาการเกษตร และแจ้งการแก้ไขเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งเตือน กรณีไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพภายในระยะเวลาที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ให้ระงับหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชจนกว่าจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ และแจ้งการแก้ไขเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม อาจถูกยกเลิกหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช  พร้อมทั้งจัดประชุมชี้แจง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 โดยมีผู้ประกอบการโรงงานผลิตสินค้าพืช และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมจำนวน 120 คน

2. มาตรการในการควบคุมกำกับดูแลหน่วยตรวจรับรอง (Certification Body,CB)จากข้อมูลของ มกอช.พบว่าบางหน่วยรับรองภาคเอกชน (CB) มีสัดส่วนของผู้ตรวจประเมินที่ไม่สัมพันธ์กันกับจำนวนของสถานประกอบการ ที่แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ตรวจประเมินไม่เพียงพอ จึงควรมีการปรับปรุงแก้ไข กฎระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือแนวทาง ให้สามารถควบคุม กำกับ และดูแล หน่วยรับรองภาคเอกชน ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะมีการพัฒนาหลักสูตร และเทคนิคการปฏิบัติงาน ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสินค้าเกษตร ให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และมาตรฐานได้อย่างถูกต้อง

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า กรมวิชาการเกษตร ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตร เน้นย้ำผัก ผลไม้ และอาหาร ต้องปลอดภัย และมีคุณภาพสำหรับการบริโภคในประเทศ และส่งออกตามนโยบาย ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Related
แชท
Skip to content