นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ส่งผลกระทบให้พื้นที่การเกษตรเสียหาย เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกไม้ผลของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำท่วมเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร เร่งสกัดการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืชฉุกเฉิน ในพื้นที่น้ำท่วม
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน และหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จัดงาน Kick Off โครงการฟื้นฟูและสกัดการระบาดโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วม ณ อาคารอเนกประสงค์ บ้านสบงาย หมู่ 5 อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อพบปะเกษตรกรรับฟังปัญหา พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิตชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มา และเมล็ดพันธุ์ผัก แก่เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จำนวน 60 ราย กรมวิชาการเกษตร โดยสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ร่วมกับ บริษัท เจียไต๋ จำกัด และ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกันนำร่องใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในการสาธิตการพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อฟื้นฟูไม้ผลหลังน้ำท่วม การสาธิตและขยายผลการใช้ชีวภัณฑ์แบคทีเรียบาซีลัส พ่นเพื่อป้องกันโรคพืชทางใบ ในพื้นที่แปลงเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจำนวน 10 ไร่ โดยใช้ชีวภัณฑ์อัตรา 100 กรัม ผสมน้ำ 25 ลิตร พ่นในพื้นที่ 1 ไร่ (อัตราการใช้สารขึ้นกับขนาดของต้น และจำนวนต้นต่อไร่)
แนวทางการฟื้นฟู และสกัดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วม โดยกรมวิชาการเกษตร จะให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีการดูแลรักษาสวนไม้ผล การให้ความรู้เรื่องการใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรค แมลงศัตรูพืช คลีนิคโรค และแมลงศัตรูพืช ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ต้องเร่งสกัดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉิน ซึ่งหากไม่ดำเนินการป้องกันอย่างเต็มที่ จะก่อให้เกิดความเสียหาย โดยไม้ผลจะยืนต้นตายในที่สุด ซึ่งกิจกรรมในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 ได้นำอากาศยานไร้คนขับ ไปร่วมกิจกรรมฟื้นฟูและสกัดการระบาดโรค แมลงศัตรูพืชฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วมของเกษตรกรที่ปลูกลำไย โดยพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อฟื้นฟูไม้ผลหลังน้ำท่วม ในพื้นที่ ต.ชมพู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และได้มอบปัจจัยการผลิต ชีวภัณฑ์ไตรโครเดอร์มา และเมล็ดพันธุ์พืชผัก พร้อมจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้การฟื้นฟูและสกัดการระบาดโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วม การบรรยายเรื่องเทคโนโลยีการดูแลรักษาสวนไม้ผล และผู้ให้บริการทางการเกษตร (Service Provider) และนิทรรศการการใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่าในวันนี้เป็นการจัดงาน kick off โครงการฟื้นฟูและสกัดการระบาดโรค แมลงศัตรูพืชฉุกเฉิน ในพื้นที่น้ำท่วม กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักพืช จึงได้นำร่องหารือกับ บริษัท เจียไต๋ จำกัด และบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อขับเคลื่อน โครงการฟื้นฟูและสกัดการระบาดโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วม ในไม้ผล ประกอบด้วย ลำไย ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ทุเรียน และลิ้นจี่ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยทางบริษัทจะร่วมสนับสนุน การบินพ่นสารชีวภัณฑ์ และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยโดรนเกษตร และหารือการขับเคลื่อนการปรับปรุงหลักสูตรการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ด้วยอากาศยานไร้คนขับ ให้สอดคล้องกับกฎหมาย หลักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการปฏิบัติของเกษตรกรและผู้รับจ้าง รวมถึงบริบทของการเกษตรในปัจจุบัน ซึ่งในโอกาสต่อไป ทางกรมวิชาการเกษตรจะได้เชิญ บริษัทอื่นๆ และสมาคมที่เกี่ยวข้อง ที่มีศักยภาพในเรื่องโดรนทางการเกษตร ร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ และแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิการผลิตด้วยเทคโนโลยีตามนโยบายของรัฐบาล และรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป