1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. กรมวิชาการเกษตร ประชุมร่วมกับ ห้องปฏิบัติการ 60 แห…

กรมวิชาการเกษตร ประชุมร่วมกับ ห้องปฏิบัติการ 60 แห่งทั่วประเทศ เตรียมความพร้อม ของห้องปฏิบัติการ และการปฏิบัติ เพื่อส่งมอบปุ๋ยเต็มคุณภาพ ให้เกษตรกร โครงการปุ๋ย และชีวภัณฑ์คนละครึ่ง

​นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ประชุมร่วมกับ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพปุ๋ย และชีวภัณฑ์ 60 แห่ง ทั้งภาครัฐ และเอกชน อาทิ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ปุ๋ย กรมวิชาการเกษตร ส่วนกลาง 1 แห่ง ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ปุ๋ย กรมวิชาการเกษตร ส่วนภูมิภาค 8 แห่ง (สวพ.1-8) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ปุ๋ย ที่กรมวิชาการเกษตรให้การกำหนดเป็นห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ปุ๋ย ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร 12 แห่ง และ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ปุ๋ยอื่นๆ 39 แห่ง สารวัตรเกษตร และกลุ่มควบคุมตามพระราชบัญญัติ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1–8 สำหรับเป็นแนวทางการปฏิบัติงานตรวจสอบคุณภาพปุ๋ย และชีวภัณฑ์ ของห้องปฏิบัติการฯ โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร อาศัยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้มีการกำกับ ดูแล ควบคุมคุณภาพการผลิต การจำหน่ายปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และจากบทบัญญัติของกฎหมายกรมวิชาการเกษตร ได้กำหนดมาตรการในการควบคุมคุณภาพของปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่มีการผลิตขึ้น และการควบคุมผู้ประกอบการผลิตปุ๋ยและชีวภัณฑ์เพื่อการค้า โดยการออกใบอนุญาตและการขึ้นทะเบียนปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องผ่านการวิเคราะห์ตรวจสอบ กำกับ ดูแลคุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ โดยจะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างจากเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรทั้ง 8 เขต ที่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ในจุดที่ 1 ณ สถานที่ผลิตปุ๋ยและชีวภัณฑ์ และจุดที่ 2 ณ สถานที่ส่งมอบ (สหกรณ์การเกษตรฯ) พร้อมกับการจัดส่งปุ๋ยและชีวภัณฑ์ไปยังห้องปฏิบัติการเอกชนในเขตพื้นที่ หรือห้องปฏิบัติการ ISO ที่มีศักยภาพในการตรวจผลิตภัณฑ์ปุ๋ย เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพและแจ้งผลการตรวจสอบวิเคราะห์มายังกรมวิชาการเกษตร

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการ และการปฏิบัติงานตามโครงการฯ มีประเด็นสำคัญ ดังนี้ แนวทางการจ่ายเงินสำหรับการส่งตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพ ให้เป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง, ความสามารถในการรับตัวอย่างและตรวจสอบของห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบคุณภาพ, การอำนวยความสะดวกในการรับตัวอย่างและส่งผลทดสอบจากห้องปฏิบัติการ, การกำหนดราคา และค่าใช้จ่ายสำหรับตรวจวิเคราะห์, การกำหนดแนวทางการตรวจสอบย้อนกลับ

สำหรับห้องปฏิบัติการเอกชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตร ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ มีดังนี้ บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จํากัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จํากัด, บริษัท โซตัส อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด, บริษัท รับตรวจสินค้าโพ้นทะเล จำกัด, บริษัท เจียไต๋ จํากัด, บริษัท ยูโนเคม จำกัด, บริษัท ลีโก้ อินสตรูเมนท์ส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย), บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จํากัด (มหาชน), ภาควิชาปฐพีวิทยาคณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน,ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นต้น

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า กรมวิชาการเกษตร มีความพร้อมในการดำเนินการในส่วนของการตรวจสอบคุณภาพร่วมกับห้องปฏิบัติการเอกชน โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3–5 วัน ในการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง หากมีข้อสงสัยในเรื่องการขึ้นทะเบียน การขออนุญาตผลิตปุ๋ย การตรวจสอบคุณภาพปุ๋ย สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนสารวัตรเกษตร 1174 หรือ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เบอร์โทร 085-8263561

Related
แชท
Skip to content