นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 1/2567 ขึ้น เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพภายใต้ภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบนโยบายกำหนดแนวทางการพัฒนาสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม เพื่อเป็นการยกระดับศักยภาพ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม สู่การใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งการประชุมในครั้งนี้เพื่อจัดทำร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567” เพื่อรับรองการพัฒนาพันธุ์พืช สัตว์ ประมง จากเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม คาดว่าจะเสนอต่อ รมว.เกษตร ได้ภายในเดือน ก.ค. 2567 และสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ทันต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าเพื่อให้สอดรับกับร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567”กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ จะดำเนินการจัดทำประกาศของแต่ละหน่วยงาน ในการกำหนด หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการขอหนังสือรับรองสิ่งมีชีวิตที่ได้จากเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม กรณีพืช ให้ยื่นคำขอต่อกรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้เป็นไปตามที่กฎหมายที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ซึ่งปัจจุบันเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) เป็นเทคโนโลยีที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ให้การยอมรับว่าไม่ใช่การพัฒนาโดยการตัดแต่งพันธุกรรม หรือ GMOsเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้พืชมีลักษณะดีตรงตามความต้องการอย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับการปรับปรุงพันธุ์พืชแบบดั้งเดิม จัดเป็นนวัตกรรมการเกษตร ที่สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิต หรือรองรับการแก้ปัญหาด้านการเกษตร อาทิ ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือการระบาดของโรคและศัตรูพืช
ทั้งนี้ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร ได้มีการจัดประชุมร่วมกับ FAO ว่าด้วยเรื่อง สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agriculture: ITPGRFA)ซึ่ง ITPGRFAจะอนุญาตให้เข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมพืช เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เพื่อปรับปรุงพันธุ์ และเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช ซึ่งถ้าประเทศไทยเข้าร่วมในสนธิสัญญานี้จะเกิดประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์พืชและการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืช ทำให้นักขยายพันธุ์พืชและเกษตรกรมีโอกาสใช้พันธุ์พืชที่พัฒนามาจากเชื้อพันธุกรรมพืชที่มีความหลากหลาย และเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม สามารถเข้าถึงพันธุกรรมพืชของต่างชาติได้สะดวก จะเป็นการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ และเพิ่มโอกาสในการสร้างพืชพันธุ์ดีและหลากหลายสำหรับเกษตรกรสอดรับการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ด้วยเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะเร่งดำเนินการออกประกาศ กรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับหนังสือรับรองพืช สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และจุลินทรีย์ทางการเกษตรที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พ.ศ. 2567 ให้สอดรับกับประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เป็นแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการขับเคลื่อนเทคโนโลยี GEdของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ