นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบาย ในที่ประชุม Fruit Board ให้กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร จัดประชุมสร้างการรับรู้ การจัดระเบียบคุมเข้มมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียนเพื่อการส่งออก ในพื้นที่ภาตใต้ ฤดูกาลผลิตปี 2567 ซึ่งกรมวิชาการเกษตร และจังหวัดชุมพรได้จัดประชุม แนวทางการปฎิบัติการส่งออกทุเรียนภาคใต้ ฤดูกาลผลิต ปี 2567 โดยนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรเป็นประธานการประชุมร่วม แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคใต้ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ พาณิชย์จังหวัด หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการป้องกันผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจในหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ และขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในการตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการส่งออกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ และการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมการเกษตร รับดูแลเกษตรกรสวนทุเรียน มีการตรวจก่อนตัด (ตรวจ% น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียน) โดยบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่จัดตั้งจุดบริการตรวจ อบรมวิธีการตรวจ และบูรณาการเจ้าหน้าปฏิบัติงานจากกรมประมงและกรมปศุสัตว์ ลงตรวจพื้นที่รายแปลง กรมวิชาการเกษตร ดูแลโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ทุเรียนที่จะส่งออกไปยังประเทศจีนต้องได้รับการรับรอง GAP โรงคัดบรรจุต้องได้รับการรับรอง GMP มีเกณฑ์การจัดประเภทโรงคัดบรรจุ เป็นสีเขียว เหลือง แดง ย้ำเตือนข้อกำหนดตามระเบียบกรมวิชาการเกษตร ว่าด้วยการรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐาน ระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช พ.ศ. 2555 และ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช รวมถึง ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน โรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563 หากฝ่าฝืนกรมวิชาการเกษตร ที่ทำงานบูรณาการร่วมกับ ทีมพญานาคราช หน่วยงานความมั่นคง จะดำเนินการพักใช้ ยกเลิก เพิกถอนใบ GAP ใบ DOA ตามระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิด ผลผลิตทุเรียนต้องเป็นไปตาม มกษ 3-2556 มีใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) ได้มีการกำชับให้นายตรวจพืช ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนตามพิธีสารการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ไม่ให้มีศัตรูพืชกักกัน เช่น เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ติดไปกับทุเรียนส่งออกอย่างเด็ดขาด โดยกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้ตรวจก่อนปิดตู้ทุกครั้ง
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังมีมาตรการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนส่งออกไปยังประเทศจีน ดังนี้ ปรับเปลี่ยนการยื่นคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate: PC) ตามแบบ พ.ก.7 ต่อด่านตรวจพืช – จากเดิมที่ระบบ e-Phyto จะตัดยอดปริมาณผลผลิตไร่/ตู้ในขั้นตอนที่ ผู้ส่งออกหรือตัวแทนกด “บันทึกคำขอ พ.ก.7” เปลี่ยนใหม่เป็นตัดยอดปริมาณผลผลิตไร่/ตู้ในขั้นตอน “ยื่นคำขอ พ.ก.7” เพื่อแก้ไขปัญหาที่ผู้ส่งออกหรือตัวแทนยื่นคำขอ พ.ก.7 ทิ้งค้างไว้ในระบบ e-Phyto คราวละมากๆ เพื่อกันสิทธิ์ใช้ GAP ล่วงหน้าสำหรับตนเองแต่ยังไม่ได้ส่งออกจริง โดยระบบจะยกเลิกคำขอ พ.ก.7 ที่มีการยื่นทิ้งไว้และไม่มีการดำเนินการใดๆ ภายใน 5 วัน ลดขั้นตอนการรับคำขอ พ.ก.7 – จากเดิมที่ ด่านตรวจพืชจะต้องโทรศัพท์ไปยังสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดในเครือข่าย เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบว่า ใบรับรอง GAP ที่ผู้ส่งออกหรือตัวแทนนำมายื่นในระบบ e-Phyto เป็นของเกษตรกรดังกล่าวจริงหรือไม่ เปลี่ยนใหม่เป็น ยกเลิกขั้นตอนการโทรศัพท์ตรวจสอบดังกล่าว โดยด่านตรวจพืชจะตรวจสอบเพียงสถานภาพการขึ้นทะเบียนกับ GACC ของจีน และตัดยอดปริมาณผลผลิตไร่/ตู้เท่านั้น ส่วนการตรวจสอบว่าเป็นทุเรียนจากเกษตรกรที่เกี่ยวข้องจริงหรือไม่จะอยู่ในขั้นตอนการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งในทุเรียนแทน เพิ่มความรวดเร็ว – โดย การตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง (ตรวจเปอร์เซ็นต์แป้ง) ของ สวพ.7 และ การตรวจสอบศัตรูพืชและการปฏิบัติตามพิธีสารไทย-จีน (ตรวจปิดตู้) ของด่านตรวจพืช สคว. จากเดิมที่ต้องด่านตรวจพืชต้องรับคำขอ พ.ก. 7 สำเร็จก่อน จึงจะมีการตรวจเปอร์เซ็นต์แป้ง ตามมาด้วยการตรวจปิดตู้ได้ เปลี่ยนใหม่เป็น ดำเนินการคู่ขนานได้ โดย สวพ.7 สามารถออกตรวจเปอร์เซ็นต์แป้งได้เลยโดยไม่ต้องรอคำขอ พ.ก.7 ยื่นสำเร็จก่อน โดยจะต้องระบุ เบอร์ตู้ น้ำหนักและจำนวนกล่อง ด่านตรวจพืชที่ออกใบ PC เครื่องหมายการค้า ชื่อผู้ส่งออก เพื่อเชื่อมโยงในขั้นตอนการตรวจปิดตู้ของด่านตรวจพืช ประสานฉับไว – โดยจะติดตามสถานการณ์การนำเข้าที่ด่านนำเข้าของจีนผ่านทูตเกษตรกว่างโจวอย่างใกล้ชิด และสถานการณ์การหมุนเวียนตู้สินค้า เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบและปรับแผนการส่งออกให้สอดคล้องสถานการณ์
นางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ที่รับผิดชอบโดย สวพ. 7 และพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่รับผิดชอบโดย สวพ.8 มีการให้บริการ “GAP Mobile เคลื่อนที่” และบริการ Clinic เกษตรเคลื่อนที่ ในการขึ้นทะเบียนสวน GAP ให้กับเกษตรกรเป็นระยะ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และช่วยลดค่าใช้จ่าย สร้างการรับรู้ ความเข้าใจในการผลิตทุเรียนคุณภาพ ได้มาตรฐาน GAP ไม่ตัดทุเรียนอ่อนหรือด้อยคุณภาพ รวมทั้งความสำคัญของการใช้ใบรับรอง GAP เพื่อจำหน่ายผลผลิต ทวนสอบย้อนกลับแหล่งผลิตได้ โดยให้ สวพ 7 และ สวพ 8 เน้นคุณภาพทุเรียนส่งออก โดยเฉพาะทุเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องได้คุณภาพสำหรับการส่งออก ปลอดภัยจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า กรมวิชาการเกษตรเตรียมความพร้อมรับมือการส่งออกทุเรียน ปี 2567 โดยมีแนวทางปฏิบัติงานร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การบริหารส่วนจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบคุณภาพ รับรองสุขอนามัยพืช ตามเงื่อนไขการส่งออกตามพิธีสาร ไทย-จีน และจะมีการนำร่องใช้ application ตรวจสอบปริมาณผลผลิตทุเรียนจากแปลง GAP ของเกษตรกร เชื่อมโยงกับระบบการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-phyto ก่อนจะเปิดใช้เต็มระบบต่อไปในอนาคต ซึ่งจะช่วยตรวจสอบย้อนกลับป้องกันปัญหาการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรอง GAP ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะทำงานร่วมกับทีมพญานาคราช และหน่วยงานความมั่นคง อย่างใกล้ชิด ในการตรวจสอบ คุณภาพของทุเรียนไทย ให้มีความปลอดภัย คุณภาพสูง ตามนโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนส่งออกไปยังปลายทางประเทศจีน ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ขอขอบคุณ ทีมพญานาคราช หน่วยงานความมั่นคงในจังหวัด ที่ปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง