1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. อธิบดีกรมวิชาการเกษตร หารือกับ ผู้แทนกระทรวงเกษตรส…

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร หารือกับ ผู้แทนกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA /APHIS) ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกใต้ชูนโยบาย รมว.เกษตร ผลักดันสินค้าเกษตรปลอดภัย มูลค่าสูง มุ่งสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้การต้อนรับ นายมาร์ค กิลคีย์ (Mr.Marc Gilkey) ผู้แทนกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA /APHIS) ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกใต้ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา ในประเด็นโครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีก่อนการส่งออกในฤดูกาลส่งออก ปี 2567 การจัดลำดับสินค้าผลไม้สดของไทยที่ประสงค์จะขอลดปริมาณรังสีสำหรับการฉายรังสีผลไม้ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และประเด็นการขอเปิดตลาดสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการแสวงหาความร่วมมือด้านการเกษตร การแก้ปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในต่างประเทศ และ การส่งเสริมและขยายการค้าสินค้าเกษตรในต่างประเทศ เพื่อการขับเคลื่อนการเกษตรต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งสร้างรายได้ภาคการเกษตร 3 เท่าในเวลา 4 ปี

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวขอบคุณ APHIS สำหรับการส่งออกส้มโอฉายรังสีแกมมาไปยังสหรัฐอเมริกา และเปิดเผยว่าปัจจุบันสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ไทยต้องฉายรังสีแกมมา ปริมาณ 400 เกรย์ ก่อนส่งออกผลไม้ 8 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด มังคุด แก้วมังกร เงาะ และส้มโอ ซึ่งปัจจุบันได้มีมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการกำหนดปริมาณรังสีแกมมาที่เหมาะสมสำหรับการฉายรังสีผลไม้เพื่อการส่งออก และเพื่อลดความเสียหาย จากการฉายรังสีผลไม้ไทยก่อนส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ในระดับปริมาณไม่ต่ำกว่า 400 เกรย์ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการฉายรังสี ซึ่งการฉายรังสีตามมาตรฐานสากล จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ของผลไม้ฉายรังสีไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา จึงขอให้ APHIS พิจารณาลดปริมาณรังสีสำหรับการฉายรังสีผลไม้ไทย 8 ชนิด ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบัน เกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วและรุนแรง ซึ่งภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชอุบัติใหม่ที่สำคัญ การนำเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่มีความปลอดภัยสูง คุ้มค่า พัฒนาได้รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ จึงมีความจำเป็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงปัญหาภาวะวิกฤตดังกล่าว จึงเร่งผลักดันส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม Gene Editing หรือ GEd ให้ก้าวทันบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การนำเทคโนโลยี GEd มาใช้แก้ไข หรือปรับแต่งยีนให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ต้านทานศัตรูพืช มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น ผลผลิตสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ที่สำคัญเทคโนโลยี GEd ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs และมีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่ง FAO ก็ได้ให้การยอมรับเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม รวมถึงรัฐสภายุโรป (European parliament) ก็ได้มีมติรับรองเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม หรือเทคนิคจีโนมแบบใหม่ (GEd, New Genomic Techniques (NGTs), Genome editing) เป็นผลให้พืชที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ ด้วยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม ไม่จัดเป็นพืช GMOs และจะถูกพิจารณาเช่นเดียวกับพืชที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์แบบปกติ ไม่ใช้กฎหมายและหลักเกณฑ์เดียวกันกับพืช GMOs อีกต่อไป

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้หารือถึงความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีดังกล่าว กับ APHIS ซึ่งที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้มีการสัมมนาร่วมกับ ดร. อดัม คอร์นิช (Dr. Adam Cornish) ที่ปรึกษาด้านการเกษตร สำนักงานนโยบายการเกษตร กองเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา และ คุณเคลลี่ สแตงก์ (Ms. Kelley Stange) ที่ปรึกษาเอกอัครราชทูตฝ่ายการเกษตร ประจำสถานฑูตอเมริกาแห่งประเทศไทย ในประเด็น “ความเข้าใจกฎระเบียบการควบคุมเทคโนโลยี Gene Editing” ซึ่ง ดร. อดัม คอร์นิช กล่าวว่า ในปัจจุบัน ประเทศส่วนใหญ่ของโลกได้ลงทุนงานวิจัยและอนุมัติใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd อาทิ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์ เคนยา รัสเซีย ออสเตรเลีย ต่างให้การยอมรับเทคโนโลยี GEd ทั้งในเชิงการค้า และการบริโภคเช่นเดียวกับพืชปกติทั่วไป เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้สนทนากับ นายมาร์ค กิลคีย์ ในวันนี้ และขอขอบคุณสำหรับความร่วมมือที่มีมาอย่างต่อเนื่อง การผลักดันสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัย คุณภาพสูง สู่สหรัฐอเมริกา จะเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทย สอดรับกับการเพิ่มรายได้ 3 เท่า ภายใน 4 ปี ที่เป็นนโยบายของ รัอยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Related
แชท
Skip to content