1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. รมว. เกษตร ชื่นชม กรมวิชาการเกษตรนโยบายเพิ่มพื้นที…

รมว. เกษตร ชื่นชม กรมวิชาการเกษตรนโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง ผลักดันการผลิตถั่วเหลืองโดยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ แบบ Low Carbon

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อหารือและมอบนโยบายการเพิ่มพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง และร่วมสาธิตการปลูกถั่วเหลืองด้วยเครื่องปลูก ณ แปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเปิดงานนวัตกรรมเสริมแกร่งถั่วเหลืองไทย เพิ่มรายได้เกษตรกร และมอบรางวัลเกษตรกรถั่วเหลืองมือทอง ณ นิคมสหกรณ์แม่แตง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในโอกาสนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมลงพื้นที่ด้วย
 
รมว เกษตรฯ ร่วมหารือกับผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผศ.พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และคณะ ถึงแนวทางการเพิ่มพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง ซึ่งถั่วเหลืองเป็นพืชตระกูลถั่วที่สำคัญ เป็นพืชโปรตีน และพืชน้ำมันที่มีความสำคัญด้านโภชนาการ เป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร สกัดน้ำมัน และอาหารสัตว์ ความต้องการใช้ถั่วเหลืองในประเทศมากกว่า 4 ล้านตันต่อปี แต่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เพียง 20,000 ตันต่อปี จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ แนวทางการเพิ่มพื้นที่ปลูกต้องมีเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีเมล็ดพันธุ์ดีที่เพียงพอ เป็นการรองรับนโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกให้มีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้ ลดการนำเข้า เพิ่มความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และเป็นการแก้ปัญหาลดผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะทำให้เกิดภัยแล้ง โดยปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรัง
 
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า โมเดลต้นแบบการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพ แบบ Low carbon เป็นการใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การใช้เมล็ดพันธุ์ดี การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ร่วมกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การใช้เครื่องจักรกลเกษตร ได้แก่ เครื่องปลูก และเครื่องเก็บเกี่ยว การจัดการน้ำระบบน้ำหยดร่วมกับปุ๋ยแบบอัตโนมัติ การใช้โดรนในการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูถั่วเหลือง การใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการใช้โดรนประเมินผลผลิต ซึ่งจะทำให้สามารถได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 400 กก./ไร่ สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยของประเทศ 260 กก./ไร่
 
โดยจะมีการดำเนินการที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลสันป่ายาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นชุมชนต้นแบบขยายผลเทคโนโลยีการผลิตถั่วเหลืองให้เกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอื่นที่เป็นพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองที่สำคัญ ส่งผลให้สามารถยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศได้ในที่สุด นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังเตรียมความพร้อมในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วหลือง และถั่วเขียวพันธุ์ดีแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้มีเมล็ดพันธุ์ดีเพียงพอรองรับการเพิ่มพื้นที่ปลูกและความต้องการผลผลิตของประเทศ
 
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า ในงาน “นวัตกรรมเสริมแกร่งถั่วเหลืองไทย เพิ่มรายได้เกษตรกร” กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการวิชาการ ได้แก่ โมเดลต้นแบบการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพ ถั่วเหลืองพันธุ์ กวก. เชียงใหม่ 60 ถั่วเหลืองพันธุ์ กวก. เชียงใหม่ 7 การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง การสาธิตการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธ์ุในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังแจกจ่ายปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกร ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์ กวก. เชียงใหม่ 7 จำนวน 150 กิโลกรัม ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม จำนวน 1,000 ถุง และจุลินทรีย์ปฎิปักษ์บาซิลลัส ซับทิลิส สายพันธุ์ PSL49 ควบคุมโรคเมล็ดสีม่วงและโรคเมล็ดเน่าโฟมอปซิส จำนวน 100 ชุด
 
Related
แชท
Skip to content