1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามการด…

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองจังหวัดพะเยา แปลงต้นแบบการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบคาร์บอนต่ำ และการประชุมหารือแนวทางการรวบรวมผลผลิต

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการติดตามการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองจังหวัดพะเยา แปลงต้นแบบการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบคาร์บอนต่ำ และการประชุมหารือแนวทางการรวบรวมผลผลิต ณ แปลงต้นแบบบ้านร่องไฮ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

โครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังนา กรมวิชาการเกษตร ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์ กวก.เชียงใหม่ 60 จำนวน 4,540 กิโลกรัม โดยได้ส่งมอบไปเมื่อวันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2567 ที่เทศบาลตำบลบ้านใหม่ โดยนำไปปลูกในพื้นที่ 300 ไร่ คาดการณ์ว่าจะได้ผลผลิตถั่วเหลืองไม่น้อยกว่า 60 ตัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้หมุนเวียนในชุมชนไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการรณรงค์เกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวนาปรังเป็นพืชตระกูลถั่วที่ใช้น้ำน้อย เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่เกษตร รวมถึงเพิ่มปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศให้สูงขึ้น โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพะเยา จะเป็นผู้ประสานงานการรวบรวมผลผลิตถั่วเหลืองของเกษตรกร

การจัดทำแปลงต้นแบบการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบคาร์บอนต่ำ เป็นการดำเนินการร่วมกันทั้ง กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และส่วนราชการในจังหวัดพะเยา ณ บ้านร่องไฮ พื้นที่รวม 6 ไร่ มีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และขยายผลการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบคาร์บอนต่ำ จากผลผลิตถั่วเหลืองวิธีดั้งเดิม 266 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 400 กิโลกรัม/ไร่ และยังเป็นวิธีการปลูกที่นำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ รองรับการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิต ได้แก่ การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับการใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการปลูกและเก็บเกี่ยวเพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน การจัดการน้ำในระบบน้ำหยดร่วมกับปุ๋ยแบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังรวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การใช้โดรนในการประเมินสุขภาพพืช การใช้โดรนพ่นสารเคมีร่วมกับร่วมกับสารชีวภัณฑ์เพื่อป้องกันกำจัดโรคแมลง และการจัดทำคู่มือการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพ

การติดตามงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย การประชุมถ่ายทอดความรู้ การปลูก การดูแลรักษา การจัดทำบัญชี และการจัดแสดงนิทรรศการการเยี่ยมชมแปลงต้นแบบการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีโมเดลการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบคาร์บอนต่ำ ที่จะเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในจังหวัดพะเยา และพื้นที่ใกล้เคียง ได้นำไปปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป

Related
แชท
Skip to content