เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยนางสาวเชาวนาถ พฤทธิเทพ ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตร ครั้งที่ 1/2568
โดยมีนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 134 -135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อติดตามเร่งรัดการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหา PM2.5 ภาคการเกษตร โดยในส่วนของกรมวิชาการเกษตรได้นำเสนอผลการประชุมวิชาการนานาชาติ ภายใต้หัวข้อ “การเฉลิมฉลองทศวรรษแห่งความร่วมมือใน ระดับภูมิภาคเพื่ออนาคตเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” และงาน 10th Anniversary of ASEAN Climate Resilience Network (ASEAN-CRN) ซึ่งไทยได้กล่าวถ้อยแถลงการยกระดับปัญหา PM2.5 เป็นวาระอาเซียน ด้วย 3R และ ING Model ซึ่งที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ ขับเคลื่อนนโยบาย 3R เพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 โดย Re – Habit ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกรมาปลูกพืชโดยไม่มีการเผา ด้วยการออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอรับรอง กระบวนการผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผาเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ( GAP PM2.5 Free Plus) พ.ศ.2567
ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ สำนักงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ดำเนินการตรวจและให้การรับรอง GAP ข้าวโพดเมล็ดแห้ง ในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ อ.แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และอ.ปง จังหวัดพะเยา โดยมีเกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP PM 2.5 Free Plus แล้ว จำนวน 1,345 ราย มีพื้นที่รวม 19,300 ไร่
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พัฒนาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีปลอดการเผาสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง โดยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้มีมติเห็นชอบต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 และจะประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป และเตรียมขยายผลให้มีมาตรฐานครอบคลุมพืชอื่นๆ ที่มีปัญหาก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผา เช่น ข้าวและอ้อยโรงงาน อีกด้วย นอกจากนี้กรมวิชาการยังใช้กลไก Re-place with high value crops ด้วยการเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงเป็นไม้เศรษฐกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีและรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น กาแฟ แมคคาดีเมีย อโวคาโด และ Replace with alternate crops โดยลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังมาเป็นพืชใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินงานวิจัยเพื่อลดการเผาด้วยการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพดนำมาผลิตเป็นใบโอชาร์