นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากนโยบายของ ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตร “เพื่อแก้ปัญหา PM 2.5” ไม่เผาพืชทางการเกษตร และไม่รับซื้อ ไม่นำเข้า สินค้าเกษตรที่ผ่านการเผา กรมวิชาการเกษตรจึงจัดประชุมหารือแนวทางการไม่รับซื้อสินค้าเกษตรที่ผ่านการเผาเพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) และแนวทางการเพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศสหรัฐอเมริกา (ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานอธิบดี กรมวิชาการเกษตร และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting
วันที่ 28 มกราคม 2568 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยนายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายโสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ นางสาวญาณี ศรีมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตอาหารจากถั่วเหลืองไทย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการไม่รับซื้อสินค้าเกษตรที่ผ่านการเผาเพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) และแนวทางการเพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศสหรัฐอเมริกา (ถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) เพื่อพิจารณาแนวทางการไม่รับซื้อสินค้าเกษตรที่ผ่านการเผาเพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 เป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาลให้การแก้ไขปัญหา PM2.5 เป็นวาระแห่งอาเซียน ซึ่งไทยได้ให้ถ้อยแถลงทั้งในเวทีการประชุมวิชาการนานาชาติ ภายใต้หัวข้อ “การเฉลิมฉลองทศวรรษแห่งความร่วมมือใน ระดับภูมิภาคเพื่ออนาคตเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” และงาน 10th Anniversary of ASEAN Climate Resilience Network (ASEAN-CRN)
ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง มาตรการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคเกษตร รวมถึงมาตรการของกรมวิชาการเกษตรตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอรับรอง กระบวนการผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผาเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 (PM2.5 Free Plus) พ.ศ.2567 คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้มีมติเห็นชอบต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีปลอดการเผาสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง และประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศ ซึ่งจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป และจะทำการขยายผลมาตรฐานให้ครอบคลุมพืชอื่นๆ ที่มีปัญหาก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผา เช่น ข้าว และ อ้อย อีกด้วย
กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการภายใต้นโยบาย 3R เพื่อลดปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่เกษตร ได้แก่ 1) Re-Habit ปรับเปลี่ยนนิสัยหรือพฤติกรรมของเกษตรกร ให้ปลูกพืชแบบไม่เผา 2) Replace with high value crops ปรับเปลี่ยนพืชปลูกจากเดิมที่เป็นพืชไร่ หรือพืชล้มลุก เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชที่มีมูลค่าสูง และ 3) Replace with alternate crops ปรับเปลี่ยนพื้นที่นาปรังเป็นพืชใช้น้ำน้อยเพื่อลดการเผา และได้ขยายผลการดำเนินงานลดการเผาเป็นโมเดลการผลิตพืชคาร์บอนต่ำ (ING Model) ซึ่งมีหลักการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และครอบคลุมแนวทางการจัดการเพื่อลดการเผาตามแนวนโยบาย 3R โดย ING Model มีรายละเอียดประกอบด้วย 1) Increase Productivity and Income การเพิ่มศักยภาพการผลิต และการเพิ่มรายได้ 2) New Technology / Innovation Utilization การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อลดแรงงานคน หรือ และการใช้ระบบการทำการเกษตรแบบแม่นยำ และ 3) Green Management การจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์มาตรฐานการผลิตพืช เพื่อเพิ่มความยั่งยืนในระบบเกษตร
ในการประชุมครั้งนี้ ได้เปิดรับฟังข้อเสนอแนะในการดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 ภาคการเกษตร เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยที่ประชุมต้องการให้เกิดการสร้างกลไกที่มีความเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรผู้ผลิต และผู้ประกอบการ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจ และการสนับสนุนจากภาครัฐในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร เพื่อการผลิตแบบไม่เผา รวมถึงมีการตรวจรับรองแหล่งผลิตที่ปลอดการเผา ในส่วนการไม่รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากแหล่งผลิตหรือประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผา ผู้ประกอบการยินดีให้ความร่วมมือ รวมถึงการเปิดใหม่ อาทิเช่นตลาดสหรัฐอเมริกา เพิ่มเติมทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลืองตามเงื่อนไขที่เหมาะสม และการรับซื้อผลผลิตจากแหล่งผลิตที่มีการผลิตแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งการปล่อยคาร์บอน (Carbon Emission) เป็นสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและสมาคมฯ ที่เกี่ยวข้อง จะได้ส่งหนังสือข้อคิดเห็นต่อมาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และแนวทางปฏิบัติเสนอต่อกรมวิชาการเกษตร เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป ซึ่งการประชุมหารือในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมและขานรับนโยบายตามมติประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ในการแก้ไขปัญหาสถาการณ์ไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองทันที ตามแผนการจัดการปัญหา ฝุ่น PM2.5 ระยะสั้น-ยาว