เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน การประชุมเพื่อจัดทำรายละเอียดโครงการสกัดการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช เชื้อรา และการสนับสนุนพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ปี 2567/2568 ณ ห้องประชุม 1 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และระบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting พร้อมด้วย นางสาวจงรัก อิ่มใจ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในเขตภาคเหนือตอนบน และหน่วยงานในสังกัดกรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติจากอุทกภัย ตั้งแต่เริ่มประสบภัยวันที่ 23 สิงหาคม 2567 เกิดมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านตอนบนของภาคเหนือ จึงเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมและไหลลงสู่ลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขาต่างๆ ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พื้นที่เป้าหมายของโครงการ 50 จังหวัด (เฟส 1 ดำเนินการในพื้นที่ที่ได้รับอุทกภัยภาคเหนือ : เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน และสุโขทัย ฯลฯ) กรมวิชาการเกษตรได้วางแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิตคุณภาพดี โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชไร่ พืชสวน ปัจจัยการผลิต และชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช เพื่อสกัดการระบาดของโรค แมลงศัตรูพืช และเชื้อรา ในพืชเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ลำไย ทุเรียน ส้มโอ ส้มเขียวหวาน สนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เยียวยา ฟื้นฟู สร้างและเสริมรายได้ ลดรายจ่ายให้กับเกษตรกรภายหลังประสบภัยพิบัติ ให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้พิจารณาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามความเป็นจริง เหมาะสม สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ตลอดจนการกำหนดกลไกในการตรวจสอบในรูปแบบคณะกรรมการระดับต่างๆ ด้วยความรอบคอบ และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องด้วย โดยมีกิจกรรมที่ดําเนินการ 5 กิจกรรม ได้แก่
กิจกรรมที่ 1 สกัดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉินในพื้นที่ประสบอุทกภัยของลําไย ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ทุเรียน (ระยะที่ 1)
กิจกรรมที่ 2 สนับสนุนการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่และพืชสวนแก่เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ (ระยะที่ 1)
กิจกรรมที่ 3 สนับสนุนเกษตรกรผลิตก้อนเชื้อเห็ดเศรษฐกิจ (ระยะที่ 1)
กิจกรรมที่ 4 สนับสนุนปัจจัยการผลิตพืช (ระยะที่ 1)
กิจกรรมที่ 5 การซ่อมแซมและฟื้นฟูเครื่องจักรกลเกษตรขนาดเล็กหลังน้ำท่วม (ระยะที่ 1)