เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ ประจำปี 2567 เรื่อง “The Ignite Biotechnology : ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และการอนุรักษ์พันธุกรรมเพื่ออนาคตยั่งยืน” ณ โรงแรมโนโวเทล ฟิวเจอร์ปาร์ค จังหวัดปทุมธานี
วัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน ของแผนงานวิจัย/โครงการวิจัย ปี 2567 ที่ได้รับงบประมาณดำเนินการจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ อนุรักษ์พันธุกรรม และนวัตกรรมจากจุลินทรีย์ด้านการเกษตร และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ความคิดเห็น ประสบการณ์ ปัญหา และอุปสรรคของการดำเนินการวิจัยระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม อันเป็นปัจจัยนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามวิสัยทัศน์ “IGNITE Agriculture 2025” ที่มุ่งมั่นยกระดับภาคการเกษตร ส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีรายได้มากขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำในภาคการผลิต จนไปถึงการแปรรูปส่งออกไปยังตลาดโลก ตลอดห่วงโซ่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงอย่าง เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing Technology) ในการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือการพัฒนางานด้านการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เสริมสร้างการรับรู้ของสังคมอย่างถูกต้อง ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ควบคู่กับการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ ในการทำงานแบบบูรณาการ พร้อมแนวทางการปฏิบัติงานตามภารกิจการบริหารจัดการแผนงาน โครงการวิจัย งานบริการ และการบริหารงบประมาณด้านการเบิกจ่ายงบเงินอุดหนุนเพื่อการวิจัยจากกองทุน ให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
การจัดประชุมวิชาการฯ ในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี ภายใต้แผนและรายงานความก้าวหน้าที่ได้รับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กิจกรรมที่ 2 การติดตามงานและรายงานความก้าวหน้างานวิจัย สกสว. ปี 2567 รอบ 12 เดือน กิจกรรมที่ 3 เสวนา เรื่อง “เกษตรกรมีเฮ เห็ดพันธุ์แนะนำ กรมวิชาการเกษตร” และกิจกรรมที่ 4 บรรยายพิเศษ 3 เรื่อง ได้แก่ (1) เรื่องก้าวแรกแห่งความสำเร็จของการพัฒนาพันธุ์อ้อยด้วย GEd (2) เรื่องปักหมุด !!! อาหารแห่งอนาคต สร้างสุขภาพ หนุนเศรษฐกิจไทย และ (3) เรื่อง Move Forward GEd ; ก้าวต่อไปกับการพัฒนา GEd เขย่าวงการเกษตรไทย