1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. กรมวิชาการเกษตร ร่วมจัดนิทรรศการ “การพัฒนาการเกษตร…

กรมวิชาการเกษตร ร่วมจัดนิทรรศการ “การพัฒนาการเกษตรพะเยาโมเดล กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต”

วันที่ 17 สิงหาคม 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ ”การพัฒนาการเกษตรพะเยาโมเดล กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต“

ในโอกาสนี้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีฯ นางสาวจงรัก อิ่มใจ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 และคณะกรรมการบริหาร สวพ. 1 เข้าร่วมนิทรรศการ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา (โซนบี) ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา และร่วมตรวจเยี่ยมพื้นที่ต้นแบบ การขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดพะเยา ณ บ้านแม่ต๋ำน้อย ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ด้วย

ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร นำผลการดำเนินงานพะเยาโมเดล มาร่วมแสดงนิทรรศการ จำนวน 2 เรื่องหลัก คือ

1. โครงการปลูกพืชแบบ Low Carbons

2. การปลูกกาแฟอะราบิกาและโรบัสตาของจังหวัดพะเยา ดังนี้

1.โครงการปลูกพืชแบบ Low Carbons ประกอบด้วย 3 โครงการ ดังนี้

1.1 โครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แบบ Low Carbons เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 ดำเนินการตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP ข้าวโพดเมล็ดแห้ง (GAP) ตามมาตรฐาน มกษ. 4402-2553 และตรวจรับรองกระบวนการผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้ง แบบไม่เผาเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 (PM 2.5 Free Plus) จำนวน 457 ราย 611 แปลง 1,079 ไร่

1.2 โครงการชุมชนบูรณาการ “ชุมชนต้นแบบ” ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองหลังนา และถั่วเขียวก่อนปลูกข้าวนาปี แบบ Low Carbons ได้แก่ (1) ชุมชนต้นแบบการผลิตถั่วเหลืองหลังนา แบบ low carbons ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์ กวก.เชียงใหม่ 60 มีเกษตรกรเข้าร่วม 62 ราย พื้นที่ 137.5 ไร่ ในพื้นที่ตำบลงิม ตำบลออย อ.ปง อ.เชียงม่วน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองคุณภาพดี เช่น การใช้โดรนในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการใช้เครื่องเกี่ยวนวดในการเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง ทำให้ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง 16.38 ตัน รายได้สุทธิ 2,000 บาทต่อไร่ (2) ชุมชนชุมชนต้นแบบการผลิตถั่วเขียวก่อนข้าวนาปี แบบ low carbons ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ กวก. ชัยนาท 72 มีเกษตรกรเข้าร่วม 12 รายพื้นที่ 27 ไร่ ในพื้นที่ตำบลงิม อ. ปง และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวคุณภาพดี เช่น การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม การพ่นสารบราสซิโนไลด์ เพื่อเสริมสร้างการสังเคราะห์ด้วยแสง ส่งเสริมการเจริญเติบโต และเพิ่มความต้านทานความเครียดของพืชในสภาพฝนทิ้งช่วง และเก็บเกี่ยวถั่วเขียวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด ทำให้ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว 3.03 ตัน รายได้สุทธิ 1,100 บาทต่อไร่

1.3 โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย “โครงการบูรณาการผลิตถั่วเหลืองและถั่วเขียวพันธุ์ดี เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา” มีเกษตรกรสนใจที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 83 ราย พื้นที่ 382 ไร่ ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรเตรียมเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกในพื้นที่ 500 ไร่ ไว้จำนวน 8 ตัน เพื่อปลูกในช่วงฤดูฝน ปลายเดือน ก.ค. – ต้นเดือน พ.ย. 2567 นี้

2. การปลูกกาแฟอะราบิกาและโรบัสตาของจังหวัดพะเยา ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่

2.1 โครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟเพื่อทดแทนการนำเข้า และแก้ไขปัญหา PM 2.5 บนพื้นที่ภาคเหนือ (จังหวัดพะเยา) มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 24 ราย พื้นที่ 71 ไร่ ใน อ.เมือง อ.ปง และ อ.จุน ซึ่งมีการปลูกพืชเชิงระบบ ทำให้สามารถสร้างรายได้จากกาแฟโรบัสตาหลังจากปลูกในปีที่ 4 เท่ากับ 6400 บาท

2.2 โครงการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตกาแฟพะเยา (บางปูเลาะ) ดำเนินการให้คำแนะนำเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอะราบิกาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การปลูก การบำรุงดูแลรักษา การตัดฟื้นต้นกาแฟ การใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง การป้องกันกำจัดโรคและแมลงที่สำคัญ โดยเฉพาะมอดเจาะผลกาแฟ พัฒนากระบวนการหมักกาแฟอะราบิกา การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และเครื่องมือแปรรูปกาแฟ เป็นต้น และจัดทำแปลงต้นแบบจำนวน 15 แปลง พื้นที่ 30 ไร่

3. การทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นในพืชมูลค่าสูงของจังหวัดพะเยา ดังนี้

3.1 ลิ้นจี่ ดำเนินการขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 จำนวน 13 พันธุ์ ในปี พ.ศ. 2566 ได้แก่ ลิ้นจี่พันธุ์แดงโกเมน ลิ้นจี่พันธุ์ผ่องเพทาย ลิ้นจี่พันธุ์เพชรประกาย ลิ้นจี่พันธุ์พลอยทับทิม ลิ้นจี่พันธุ์แต้มทอง ลิ้นจี่พันธุ์ฮองเฮา ลิ้นจี่พันธุ์นางโปรด ลิ้นจี่พันธุ์แก้วมาลูน ลิ้นจี่พันธุ์มังกรแดง ลิ้นจี่พันธุ์หวานใจ ลิ้นจี่พันธุ์แดงใหญ่ ลิ้นจี่พันธุ์พวงชมพู และลิ้นจี่พันธุ์เอื้องผึ้ง วิจัยเทคโนโลยีเกี่ยวกับการชักนำให้มีการชักนำการออกดอก ติดผลและเพิ่มขนาดผลในลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย และการรับรองการผลิตพืช ตามระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) ตามมาตรฐาน มกษ. 9001-2564 ในลิ้นจี่ ดำเนินการตรวจรับรองทั้งสิ้น 356 แปลง เกษตรกร 328 ราย พื้นที่ 1,818.7 ไร่ คิดเป็น 16.34% ของพื้นที่ให้ผลผลิตลิ้นจี่ 11,129 ไร่ ในจังหวัดพะเยา

3.2 ถั่วลิสง มีต้นแบบเครื่องจักรกลเกษตรสำหรับเก็บเกี่ยวถั่วลิสง เพื่อนำไปทดสอบในพื้นที่ตำบลฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 พื้นที่เก็บเกี่ยว 100-200 ไร่

3.3 โครงการส่งเสริมการปลูก “ไผ่พลังงาน” ดำเนินการ วิจัยคัดเลือกพันธุ์ไผ่ซางหม่นที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ เพื่อใช้สำหรับโรงงานไฟฟ้าชีวมวล โดยพื้นที่เป้าหมายที่ บ้านทุ่งกล้วย ม.4 ต.ทุ่งกล้วย อ.ภูซาง จ.พะเยา ซึ่งจะมีการลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจวิเคราะห์พื้นที่ รวบรวมข้อมูลต่อไป

    Related
    แชท
    Skip to content