1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า อบรมเจ้าหน้าที่ ทั้งภาคบร…

กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า อบรมเจ้าหน้าที่ ทั้งภาคบรรยาย ปฏิบัติเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามกลไกหรือมาตรฐานที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต ที่สามารถซื้อขายได้จริง สำหรับภาคเกษตร

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืช” ให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร เพื่อรองรับการดำเนินการขับเคลื่อนสู่ระบบเกษตรคาร์บอนต่ำ ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ สอดตล้องกับแผนการลดก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรของประเทศไทย ตามนโยบายชอง ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องมีการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG และ Carbon Credit

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร มีการปรับโครงสร้างภายใน จัดตั้งกองใหม่ “กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร”เพื่อเป็นการส่งเสริมและโอกาสทางการค้าตลาดคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืช ในประเทศไทยเป็นตรั้งแรก  มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนแนวทางการผลิตพืชคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร โดยเฉพาะจากการผลิตพืช รวมถึงการดำเนินงานจัดทำต้นแบบการขอรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตรในพืชเศรษฐกิจสำคัญ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ทุเรียน มะม่วง

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงานเตรียมหน่วยตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร ทั้งในส่วนของการพัฒนาโครงการ T-VER เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตสำคัญ ซึ่งปัจจุบันได้ทำการตรวจสอบความใช้ได้ไปแล้วบางส่วน โดยคาดว่าจะมีการรับรองเพื่อขึ้นทะเบียนโครงการโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)ภายในกันยายนปีนี้พร้อมทั้งได้มีการเตรียมพร้อมเป็นหน่วยงานสำหรับตรวจสอบความใช้ได้และประเมินเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต ภายใต้มาตรฐาน ISO 14065 ซึ่งปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรผ่านการอบรมหลักสูตร VVB ของ อบก. แล้วกว่า 30 ราย และคาดว่าจะสามารถให้บริการตรวจรับรองได้ภายในปีนี้ซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นการที่กรมวิชาการเกษตรเป็น VVB จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาสำหรับเกษตรกร หรือผู้ประกอบการที่สนใจ เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานรับรอง (VVB) จึงสามารถเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำเอกสาร และมี platform ในการจัดทำโครงการ T-VER ภาคเกษตร และมีความพร้อมในการให้บริการ ในการตรวจสอบความใช้ได้ (Validate) และรับรองคาร์บอนเครดิต (Verify) จากการดำเนินงานดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรจึงมีแผนในการขยายผลแนวทางการผลิตพืชคาร์บอนต่ำ และการขอรับรองคาร์บอนเครดิตสำหรับภาคเกษตร สำหรับหน่วยงานรัฐและพื้นที่ของเกษตรกร ผ่านหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรที่มีครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

นายสมคิด ดำน้อย ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งภาคบรรยายและปฏิบัติ โดยหลังจากนี้ทางกรมวิชาการเกษตรจะลงพื้นที่อบรมให้กับเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค ในช่วง เดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน เพื่อสร้างสร้างการรับรู้ และความเข้าใจ ในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงหลักการตามกลไกหรือมาตรฐานที่ถูกต้องเพื่อให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต ที่สามารถซื้อขายได้จริง สำหรับภาคเกษตร ต่อไป

Related
แชท
Skip to content