1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. ระนองเข้มจับยางลักลอบนำเข้า พร้อมรักษาเสถียรภาพ รา…

ระนองเข้มจับยางลักลอบนำเข้า พร้อมรักษาเสถียรภาพ ราคายางในประเทศอย่างต่อเนื่อง

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าตามที่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยมีนโยบายให้ กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช หน่วยงานความมั่นคง ปราบปรามลักลอบการนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพ ราคายางพาราในประเทศให้มั่นคง

วันที่ 28 มิ.ย.67 หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง หน่วยงานความมั่นคง (หน่วยจุดตรวจศิลาสลักจปร.) และ สถานีตำรวจภูธรปากจั่น ตรวจสอบรถยนต์กระบะบรรทุกยางพาราแผ่นคลุมผ้าใบ ยี่ห้อโตโยต้าไฮลักซ์รีโว่สีบรอนซ์-เทา มุ่งหน้าจังหวัดชุมพร ซึ่งผลการตรวจ พบว่าผู้ต้องสงสัยแสดงใบอนุญาตค้ายาง หมายเลข รน 0400019140 ชนิดยางแผ่นดิบน้ำหนักสุทธิ 6,175 กิโลกรัม ซึ่งแสดงจากแบบบัญชียาง 5 ของผู้ขายจำนวน 9 ราย ผลการตรวจสอบพบว่า จากบัญชียาง 5 ในยางจำนวนดังกล่าว มียางพาราแผ่นจำนวน 1,647 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 115,290 บาท ที่ทางร้านซื้อมาจากเกษตรกรรายหนึ่งในจังหวัดระนอง ซึ่งถูก ร้อย.ร.2521 ฉก.ร.25 จับกุม ในวันที่ 27 มิ.ย.67 เวลา 03.00 น. ในข้อหาความผิด พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ลักลอบนำเข้ายางพาราแผ่นมาจากประเทศเมียนม่า ส่งดำเนินคดี สภ.บางแก้ว  และผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่าเป็นยางพาราแผ่นที่นำมาขายให้กับทางร้านดังกล่าว เป็นยางพาราแผ่นที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเมียนม่า และทางร้านค้ายินยอมให้เจ้าหน้าที่ยึดอายัด เนื่องจากไม่ทราบว่าเกษตรกรนำยางพาราแผ่นลักลอบนำเข้าจากประเทศเมียนม่ามาขาย กรมวิชาการเกษตรจึงได้ให้ทางพนักงานสืบสวนสอบสวนทำการอายัดยางพาราแผ่นดังกล่าว และแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า กรมวิชาการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย หน่วยงานความมั่นคง และหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช จะบูรณาการร่วมกันปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรอย่างเข้มงวด โดยจะติดตามและเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านตลอดแนวชายแดนของประเทศให้ต่อเนื่อง เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคายางพาราของเกษตรกรที่มีการผลิตภายในประเทศไทย

Related

Powered by WordPress

แชท
Skip to content