1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. การเปิดงาน Kick Off กิจกรรมรณรงค์ป้องกันปัญหาหนอนเ…

การเปิดงาน Kick Off กิจกรรมรณรงค์ป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เข้าร่วมการเปิดงาน Kick Off กิจกรรมรณรงค์ป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดยะลา ตำบลปุโรง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา จังหวัดยะลาเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตทุเรียน และโรงคัดบรรจุที่สำคัญในเขตภาคใต้ตอนล่าง ปี 2566 มีผลผลิตทุเรียนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ออกสู่ตลาด ปริมาณ 118,636 ตัน ซึ่งการควบคุมคุณภาพสำหรับการส่งออกผลผลิตต้องมาจากแปลง GAP มีการตรวจก่อนตัด (ตรวจ % น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียน) โรงคัดบรรจุต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP มีเกณฑ์การจัดประเภทโรงคัดบรรจุเป็นสีเขียว เหลือง แดง ย้ำเตือนข้อกำหนดตามระเบียบกรมวิชาการเกษตร ว่าด้วยการรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐาน ระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช พ.ศ. 2555 และ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช รวมถึง ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน โรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563 หากฝ่าฝืนกรมวิชาการเกษตร จะดำเนินการพักใช้ ยกเลิก เพิกถอนใบ GAP ใบ DOA ตามระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิด ผลผลิตทุเรียนทุกผลต้องมีคุณภาพตามมาตรฐาน มกษ.3-2556 มีใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) ได้มีการกำชับให้นายตรวจพืช ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนตามพิธีสารการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ไม่ให้มีศัตรูพืชกักกัน เช่น เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ติดไปกับผลทุเรียนส่งออกอย่างเด็ดขาด โดยกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้ตรวจก่อนปิดตู้ทุกครั้ง รวมทั้งมีการขอความร่วมมือโรงคัดบรรจุในพื้นที่ดำเนินการตามมาตรการกรอง 4 ชั้น ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเข้าสู่ระบบการส่งออก

นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มีคำสั่งการต่อเจ้าหน้าที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา และด่านตรวจพืชในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการมาตรการกรอง 4 ชั้นอย่างเคร่งครัดในพื้นที่เสี่ยงการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เน้นย้ำการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตลาดและภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของทุเรียนประเทศไทย

นายไพศอล หะยีสาและ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลาได้มีการดำเนินงานเชิงบูรณาการในพื้นที่กับหน่วยงานอื่นๆในการแก้ไขปัญหาทุเรียน โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาเป็นหัวเรือใหญ่ในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยะลา และหน่วยงานฝ่ายปกครองในพื้นที่จังหวัดยะลา ในการสร้างการรับรู้ถึงผลกระทบของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ต่อการทำลายตลาดการส่งออกทุเรียน และร่วมกันหาแนวทางวิธีการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่เหมาะสมในพื้นที่ปลูกที่มีความลาดชัน และเป็นเชิงเขา

มาตรการการผลิตทุเรียนคุณภาพของจังหวัดยะลาประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ร่วมจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ จดหมายข่าวให้กับผู้นำชุมชน กลุ่มเกษตรกร ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดยะลา เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ปัญหาทุเรียนอ่อน และปัญหาการขาดแคลนและสวมสิทธิ์ใบ GAP ซึ่งหากมีการตรวจพบปัญหาดังกล่าว จะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของทุเรียนประเทศไทย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลาดำเนินการจัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ การป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน การเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพ และผลเสียและการป้องกันการสวมสิทธิ์ใบ GAP

ขั้นตอนที่ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตทุเรียน วิธีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนทั้งแบบวิธีผสมผสาน และการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องให้กับกลุ่มเกษตรกร วิธีการเก็บเกี่ยวทุเรียนในระยะที่เหมาะสมหลักสูตรนักคัดนักตัดในระดับแปลงเกษตรกรและโรงคัดบรรจุ

ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำแปลงต้นแบบในการใช้วิธีการจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนโดยวิธีผสมผสานให้แพร่หลายมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบให้เกษตรกรในชุมชนนั้นๆ

ขั้นตอนที่ 4 ทดสอบนวัตกรรมการจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนโดยอากาศยานไร้คนขับ(โดรน)ที่เหมาะสม ในพื้นที่ทุเรียนต้นสูง โดยมีการทดสอบทางกายภาพของอากาศยานไร้คนขับในทุเรียนต้นสูง(ความเร็วในการบินที่เหมาะสม ความสูงเหนือทรงพุ่ม อัตราการพ่นหรือปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ และขนาดละอองสาร) การทดสอบทางด้านประสิทธิภาพในการพ่นสารด้วยอากาศยานไร้คนขับ (ทำการพ่นสารชีวภัณฑ์กำจัดแมลงBacillus thuringiensis และสารเคมีที่แนะนำ) เพื่อให้ได้วิธีการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่เหมาะสมกับภูมิศาสตร์และพฤติกรรมของเกษตรกรจังหวัดยะลา

ขั้นตอนที่ 5 การขยายผลนวัตกรรมการป้องกันและกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และการติดตามผลการดำเนินงานแปลงต้นแบบและแปลงขยายผล

นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา และหน่วยงานราชการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรในพื้นที่ ในการดำเนินงานกิจกรรมกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนให้ขยายพื้นที่เป็นวงกว้าง ได้แนะนำแนวทางวิธีการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในแปลงปลูกแบบผสมผสาน และการดำเนินการตามมาตรการกรอง 4 ชั้นในระดับแปลงปลูก โรงคัดบรรจุ และด่านตรวจพืช

Related
แชท
Skip to content