1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. “ธรรมนัส” สั่ง ฉก. พญานาคราช กรมวิชาการเกษตร การยา…

“ธรรมนัส” สั่ง ฉก. พญานาคราช กรมวิชาการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย และหน่วยงานความมั่นคงชายแดน ปราบปรามยางพาราเถื่อนต่อเนื่อง รักษาเสถียรภาพราคา

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สืบเนื่องจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” การยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงชายแดน ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการพิเศษป้องกัน ปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ติดตามและเฝ้าระวังการลักลอบการนำเข้ายางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดแนวชายแดนของประเทศให้ต่อเนื่อง เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคายางพาราของเกษตรกรที่มีการผลิตภายในประเทศไทย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของยางพาราที่ขึ้นสูงสุดต่อเนื่องในรอบหลายปีที่ผ่านมา ชุด ฉก.พญานาคราช การยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร หน่วยงานความมั่นคงชายแดน ได้ดำเนินการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง และมีรายงานว่าเมื่อ วันที่ 14 มิ.ย. 67 ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าว ว่ามีการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่จังหวัดระนอง กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง ด่านตรวจพืชท่าเรือระนอง จึงได้ร่วมวางแผนกับ ทหาร ชป.ฉก.ร.25 กับ ชุดเฉพาะกิจพญานาคราช การยางแห่งประเทศไทย เข้าซุ่มดัก บริเวณ บ.น้ำแดง ต.น้ำจีดน้อย อ.กระบุรี จ.ระนอง ตรวจพบรถยนต์กระบะตอนเดียวมีคอกกั้น ขนยางพาราข้ามมาจากประเทศเมียนมา จำนวน 5,731 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 4.5 แสนบาท จึงได้ยึดของกลาง พร้อมผู้กระทำผิดเพื่อสืบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การควบคุมนำผ่านยาง (TRANSIT) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ทุกด่านตรวจสอบการนำผ่านอย่างเข้มงวด จนกว่าจะได้มีการเจรจาข้อตกลงการค้ากับประเทศเมียนมา เกี่ยวกับประเด็นการนำผ่านให้ชัดเจน และการนำเข้า นำผ่านยาง ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข และกฎหมายที่กำหนด ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติกักพืช 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยห้ามนำเข้าสินค้ายางพาราทุกชนิด ที่จัดเป็นสิ่งต้องห้าม จากทุกแหล่ง ยกเว้น ไม้ยางพาราแปรรูป จากเมียนมา และอินโดนีเซีย และเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราแปรรูปพร้อมใช้งาน จากทุกแหล่งสามารถนำเข้าได้ สำหรับการดำเนินคดีในการลักลอบการนำเข้ายางพาราตั้งแต่ พฤศจิกายน 2566 กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อ ดำเนินคดีทั้งหมด 7 คดี ครอบคลุมจุดที่ได้ร่วมจับกุมการกระทำผิดจากพื้นที่ชายแดน ได้แก่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี อ.แม่สอด จ. ตาก อ.กระบุรี จ.ระนอง ซึ่งเป็นความร่วมมือในการปฏิบัติงานกับหน่วยงานพื้นที่ หน่วยงานความมั่นคง ด่านศุลกากร การยางแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ตรวจสอบ และจำแนกประเภทยางพารา ดังนั้น การยกระดับความร่วมมือในการป้องกันการลักลอบการนำเข้า นำผ่านยาง เป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ปกป้องพื้นที่ปลูกยางเกษตรกร และอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศไทย

Related

Powered by WordPress

แชท
Skip to content