1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. กรมวิชาการเกษตร ลุยเต็มสูบ ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั…

กรมวิชาการเกษตร ลุยเต็มสูบ ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน เปิดกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่ากรมวิชาการเกษตร เดินหน้าเต็มที่ ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน จัดตั้งกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร พร้อมทั้งลงนาม MOU ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อส่งเสริมการดำเนินการตรวจรับรองประเมินโครงการ รับรองการคำนวณคาร์บอนเครดิตทางการเกษตรและป่าไม้ ดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด และประเมินคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตรอยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดทำ Carbon credit baseline ในพืชเศรษฐกิจนำร่อง  7 ชนิด ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน มะม่วง และข้าวโพด เพื่อเป็นเส้นฐานคาร์บอนเครดิตของพืชเศรษฐกิจหลักระดับประเทศ (National Carbon Credit Baseline) สำหรับพัฒนาพืชเป้าหมายเข้าสู่โครงการ T-VER เพื่อขอรับรอง ISO 14065 จาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อเป็นหน่วยตรวจรับรองคาร์บอนเครดิต ตามมาตรฐาน T-VER ของ อบก. ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร มีผู้ผ่านการอบรม หลักสูตรผู้ตรวจสอบความใช้ได้ และผู้ทวนสอบสำหรับผู้ประเมินภายนอก สำหรับโครงการภาคสมัครใจ (VVB) จาก อบก.จำนวน 31 ราย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า กรมวิชาการเกษตร และ อบก. จะขยายผลจากการทำ MOU นำร่องใน 3 โครงการ คือ การผลักดันต้นแบบ การจัดทำคาร์บอนเครดิต ภาคการเกษตร ให้สามารถซื้อ -ขาย ได้จริง ในพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ทุเรียน มะม่วง ข้าวโพด การขอพัฒนา Methodology เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิต สำหรับ Biochar และ การวิจัยคาร์บอนฟุ๊ตปรินท์ในพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน  เมื่อกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานรับรอง VVB ได้แล้วนั้น จะมีประโยชน์ตามมาดังนี้ ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาส่าหรับเกษตรกร หรือ ผู้ประกอบการที่สนใจ เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานตรวจรับรอง (VVB) จึงสามารถเป็นที่ปรึกษาในการจัดท่าเอกสาร และมี platform ในการจัดท่าโครงการ T-VER ภาคเกษตร และมีความพร้อมในการให้บริการ ในการตรวจความใช้ได้ (validate) และรับรองคาร์บอนเครดิต (verify)

ดร. สมคิด ดำน้อย ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร เปิดเผยว่า กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจขับเคลื่อนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืช ซึ่งจะดำเนินงานทั้งในส่วนของการศึกษาวิจัยแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาวิธีดำเนินการเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ในการจัดการ และเป็นผู้ตรวจประเมิน และรับรองคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร รวมทั้งศึกษาวิจัยพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นพืชที่มีอนาคตต่อเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการส่งออก หรือเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นอาหารแห่งอนาคต เช่น หมาก มะพร้าวน้ำหอม กาแฟอัตลักษณ์ กัญชา กัญชง กระท่อม ไม้เศรษฐกิจกักเก็บคาร์บอน ไข่ผำและพืชที่มีศักยภาพเป็นพืชโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ เป็นต้น

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  ก่อนที่จะมีการจัดตั้งกองกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ  มีผลงานที่หลากหลายที่ปรากฎให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งการทำงานพืชเศรษฐกิจใหม่บางส่วนเป็นพืชเดิม บางส่วนเป็นพืชใหม่ เช่น พืชที่มีโปรตีนสูง/โปรตีนทางเลือก เช่น ไข่ผำ มีข้อจำกัดอยู่หลายส่วนโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งกองวิจัยพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ ได้ร่วมกับ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช หน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP ไข่ผำ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหารไปก่อนในระหว่างรอมาตรฐานสินค้าสำหรับไข่ผำที่สำนักงานสินค้าเกษตรและมาตรฐานแห่งชาติ (มกอช.)

“ในวันที่13 มิถุนายน 2567 นี้ถือเป็นปฐมฤกษ์ที่ได้เปิดกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตรอย่างเป็นทางการ เพื่อขับเคลื่อนสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อศึกษาวิจัยพืชเกษตร พืชเศรษฐกิจ และการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร และบริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว

Related
แชท
Skip to content