ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการโคเด็กซ์ สาขาสารพิษตกค้าง (Codex Committee on Pesticide Residues: CCPR) ครั้งที่ 55 ระหว่างวันที่ 3 – 8 มิถุนายน 2567 ณ นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพิจารณาร่างค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limits; MRLs) ของวัตถุอันตรายทางการเกษตร แนวทางสำหรับการตรวจสอบความบริสุทธิ์และความเสถียรของวัสดุอ้างอิงรับรองในระหว่างการเก็บรักษาเป็นระยะเวลานาน การปรับปรุงขั้นตอนการทำงานของ JMPR และ CCPR เพื่อลดงานการประเมินความเสี่ยงที่คงค้าง และแผนการประเมินรายการวัตถุอันตรายทางการเกษตร (priority list)
ประเทศไทยได้แสดงความเห็นความสำคัญของสารกระตุ้นทางชีวภาพ (Biostimulants) และเสนอให้มีการจัดทำแนวทางเกี่ยวกับการควบคุมสารดังกล่าว เพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้อ้างอิง ทั้งนี้ ที่ประชุมเสนอให้ประเทศไทยยื่นข้อเสนอดังกล่าวผ่าน JMPR และในการพิจารณาแผนการประเมินวัตถุอันตรายทางการเกษตรเพื่อกำหนดค่า MRLs ประเทศไทยได้แจ้งสนับสนุนข้อมูลการศึกษาการตกค้างจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรตามคำแนะนำ (supervised residue trial) ของสาร Indoxacarb ในมะเขือเปราะ และสาร spinetoram ในคะน้า จำนวน 6 การทดลองต่อสาร เพื่อให้ JMPR ประเมินความปลอดภัยในปี 2568 สำหรับการกำหนดค่า Codex MRLs ในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งจะทำให้มีค่า Codex MRLs ใช้อ้างอิงในการค้าระหว่างประเทศบนพื้นฐานข้อมูลของประเทศไทย
นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างค่า MRLs ของวัตถุอันตรายทางการเกษตร 29 ชนิด จำนวน 259 ค่า เพื่อให้ CAC รับรองในขั้นที่ 5/8 โดยประเทศไทยได้ขอสงวนสิทธิ์ต่อค่า MRLs ของสาร difenoclonazoleในผักกาดเขียว (mustard green) เนื่องจากข้อกังวลด้านสุขภาพของผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็ก ที่มีผลการประเมินเกินค่าความปลอดภัยบนพื้นฐานของข้อมูลการบริโภคของประเทศไทย
ในการประชุมครั้งนี้มีคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ดังนี้ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ