เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอรรถกร ศิริลัทธยากร) ลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดสมุทรสาคร ในโอกาสนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร(นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์) มอบหมายให้รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร (ดร. ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง)และ นายอุดมศักดิ์ ดวนมีสุข ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี ร่วมลงพื้นที่ดังนี้
จุดที่ 1. วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยตรวจติดตามพร้อมรับฟังและหารือร่วมกับเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอสีคางดำและปัญหาภาคการประมง มีประเด็นดังนี้
– ต้องการให้กรมประมงหาแนวทางการแก้ไขปัญหา 3 ระยะ คือระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
– กลุ่มเกษตรกรภาคการประมง ต้องการให้กรมประมงและบริษัทเอกชน ที่นำเข้าปลาหมอสีคางดำรับผิดชอบโดยการรับซื้อปลาหมอสีคางดำ กิโลกรัมละ 20 บาท เพื่อเป็นการเยียวยาเกษตรกร
– แนะนำให้กรมประมงเพาะเลี้ยงปลานักล่า เช่น ปลากุเลา ปลากระพง ปลาข้างตะเภา หรือปลานักล่าอื่นๆ
– เกษตรกรกลุ่มภาคการประมง เรียกร้องให้เรืออวนรุนขนาดเล็กสามารถทำการประมงในพื้นที่ชายฝั่งได้ตลอดทั้งปี
จุดที่ 2. ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยประชุมหารือร่วมกับผู้นำตัวแทนภาครัฐและเกษตรกรชาวนาเกลือ มีประเด็นดังนี้
– สหกรณ์ชาวนาเกลือกรุงเทพฯ ต้องการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ช่วยเหลือเรื่องหนี้สินที่เกิดจากค่าน้ำประปา และค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ซึ่งเป็นหนี้กับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลอยู่จำนวน 45 ล้านบาท
– หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร เสนอให้มีการกำหนดโควต้าการนำเข้าเกลือ
จุดที่ 3. ท่าเทียบเรือประมงรางจันทร์ ตำบลนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พบปะประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน จากสะพานท่าเทียบเรือประมงชำรุดและตรวจสอบความเสียหายของสะพานท่าเทียบเรือประมงที่ชำรุด มีประเด็นดังนี้
– ประเด็นปัญหาเรื่องน้ำทะเลหนุนสูงและปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง
– เรือลากหอยนอกพื้นที่เข้ามาลักลอบทำการประมงในพื้นที่