นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดจันทบุรี เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตทุเรียนปลอดภัยมูลค่าสูง การคัดบรรจุทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออกฤดูกาล 2567 ครบวงจร ทั้งสวน โรงคัดบรรจุ และคลังสินค้าห้องเย็น โดยลงพื้นที่ตรวจราชการที่ สวนนวลทองจันท์ สวนผลไม้ที่ทำการผลิตทุเรียนคุณภาพ ปลอดภัย มูลค่าสูง เพื่อรับฟังปัญหาจากเกษตรกรชาวสวนทุเรียน และรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการ จากการตรวจราชการ บริษัทดรากอน เฟรซ ฟรุท จำกัด โรงคัดบรรจุทุเรียนผลสด ขนาดใหญ่ที่ได้รับการรองมาตรฐาน GMP และขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชกับกรมวิชาการเกษตร รวมถึงเข้าตรวจราชการที่ บริษัท เกาฟง จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจ ให้บริการคลังสินค้าห้องเย็นรับฝากแช่เนื้อทุเรียนและลูกทุเรียนแช่เยือกแข็ง
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำ โครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อเป็นการถอดบทเรียนแห่งความสำเร็จการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงจากเกษตรกรต้นแบบ 76 จังหวัดทั่วประเทศ สอดรับกับหลักการ “ประชาชนต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรต้องมีมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” ตามนโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยสวนทุเรียนนวลทองจันท์ เป็นแปลงเกษตรกรต้นแบบระดับจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น The best ของจังหวัดจันทบุรี รางวัลการันตี “โมเดล ทุเรียนคุณภาพ ตลาด Premium” ภายใต้ “โครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงจังหวัดจันทบุรี” ของ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร ทุเรียนนวลทองจันท์ ผลผลิตทุเรียนคุณภาพ ที่เกิดจากการผสม ระหว่างต้นแม่พันธุ์พวงมณี และเกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทอง ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญตามธรรมชาติ มีแมลงช่วยผสมเกสรเป็นตัวกลาง นำเกสรของดอกทุเรียน 2 สายพันธุ์มาผสมข้ามสายพันธุ์จนได้ทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ ลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของทุเรียนนวลทองจันท์คือ เนื้อมีสีผิวสวยเหลืองทอง ได้เนื้อสัมผัสละเอียด รสชาติหวานหอมจากพวงมณี และปริมาณเนื้อหนา เมล็ดลีบจากหมอนทอง มีกลิ่นเฉพาะตัวหอมอ่อน ๆ เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีกลิ่นน้อยมาก จึงเป็นหนึ่งในของดีของจังหวัดจันทบุรี สวนนวลทองจันท์ เป็นสวนที่ผ่านมาตรฐานการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 300 ไร่ ทำสวนทุเรียนมานานกว่า 30 ปี
ในส่วนของโรงคัดบรรจุ กรมวิชาการเกษตรมีนโยบายที่จะจัดเกรดโรงคัดบรรจุหรือล้งโดยแยกเป็นสีเขียว เหลือง และแดง เพื่อเป็นเกณฑ์ในการช่วยการปฏิบัติงานของชุดตรวจสอบ สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทันต่อฤดูกาลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาด ซึ่งมีระยะเวลาจำกัด โดยการจำแนกเกรดหรือการให้สี จะมาจากการติดตามการบริหารจัดการและพฤติกรรมของล้งที่ผ่านมาล้งที่ได้เป็นสีเขียว หมายถึง ล้งที่มีการปฏิบัติตามระเบียบที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด และให้ความร่วมมือดีกับหน่วยงานและมีความเข้าใจกับแนวปฏิบัติ อาจจะลดการเข้าไปตรวจสอบ ส่วนสีเหลือง และ แดง คือล้งที่อาจจะมีการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง และจะต้องเพิ่มความถี่ในการเข้าตรวจ ซึ่งโรงคัดบรรจุบริษัท ดรากอน เฟรช ฟรุท จำกัด อยู่ในเกณฑ์โรงคัดบรรจุสีเขียว เป็นโรงคัดบรรจุทุเรียนผลสดขนาดใหญ่ การคัดบรรจุดำเนินการในอาคารผลิต ที่ถูกสุขลักษณะ ตามหลัก GMP โดยแบ่งพื้นที่การผลิตเป็นสัดส่วนชัดเจน มีจุดคัดแยกผลผลิตทุเรียนคุณภาพ และ ผลผลิตด้อยคุณภาพ หรือผลผลิตเสียออกจากกัน กำลังการผลิตทุเรียน ไม่ต่ำกว่า 250 ตู้คอนเทนเนอร์ ต่อฤดูกาล โดยขั้นตอนการคัดบรรจุทุเรียน เริ่มจากคัดแยกคุณภาพ และเกรดสินค้า เป่าลมทำความสะอาดสิ่งแปลกปลอม และศัตรูพืชที่อาจติดมากับผลทุเรียน จากนั้นชั่งน้ำหนัก ทำความสะอาด และชุบสารป้องกันกำจัดเชื้อรา ผึ่งให้แห้ง แพ็คบรรจุ ลงกล่อง รอโหลดสินค้า และขั้นตอนสุดท้าย คือโหลดสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์ และขนส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า โดยมีตลาดหลักกว่า 90% อยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
นอกจากุซซี่นี้ นายกรัฐมนตรียังได้ไปตรวจราชการที่ บริษัท เกาฟงจำกัด ที่ดำเนินธุรกิจ ให้บริการคลังสินค้าห้องเย็น รับฝากแช่เนื้อทุเรียนและลูกทุเรียนแช่เยือกแข็ง สามารถเก็บเนื้อ และลูกทุเรียนแช่เยือกแข็งได้ถึง 12,000 ตัน และรับแปรรูปทุเรียน โดยการแกะเนื้อทุเรียนแล้วนำไปแช่เยือกแข็ง หรือแช่เยือกแข็งทุเรียนทั้งลูก โดยการใช้ก๊าซไนโตรเจนเหลว ในการแช่เยือกแข็ง มีกำลังการผลิตได้สูงสุดถึงวันละ 600 ตัน โดยมีแหล่งวัตถุดิบ คือ ทุเรียนจากภาคตะวันออกจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด รวมถึงทุเรียนจากภาคใต้ จังหวัดชุมพร และนครศรีธรรมราชทุเรียนแช่เยือกแข็ง จากบริษัท 90% ส่งไปจำหน่ายยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ส่วนที่เหลือ 10% จำหน่ายไปยัง ยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า สถานการณ์ส่งออกทุเรียนภาคตะวันออกในปัจจุบัน มีจำนวน 6,587 ชิปเมนท์ 96,323 ตัน มูลค่า 11,595 ล้านบาท ซึ่งกรมวิชาการเกษตร มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ในระดับแปลง โดยภาคคะวันออก มีพื้นที่แปลง GAP ที่ให้ผลผลิต 424,772 ไร่ ขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานศุลกากรของจีน (GACC) แล้ว จำนวน 30,809 แปลง พื้นที่ 393,459 ไร่ หรือคิดเป็น 92% ของพื้นที่ให้ผลผลิต และมีโรงคัดบรรจุ 758 แห่ง โดยมอบหมายให้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 หรือ สวพ.6 จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่สำหรับบริการขึ้นทะเบียน GAP ปัจจุบันดำเนินการออกใบรับรอง GAP 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้ทั้งหมด รวมถึงสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ส่งออก ขึ้นทะเบียน นักคัด นักตัดทุเรียน แยกกลุ่มโรงคัดบรรจุเป็นสีเขียว เหลือง แดง เพื่อยกระดับความสามารถของโรงคัดบรรจุ ประมาณการสิ้นสุดฤดูกาล ปี 2567 นี้ คาดจะส่งออกได้ทั้งประเทศ 61,500 ชิปเม้นท์ 1,020,626.89 ตัน 129,986.42 หรือประมาณ 130,000 ล้านบาท โดยมากกว่า ปี 2566 ร้อยละ 7.9 ตามจำนวน GAPทุเรียนที่เพิ่มขึ้น (จากยอดเดิมการส่งออกทั้งประเทศ ปี 2566 จำนวน 57,000 ชิปเม้นท์ ปริมาณ 945,900.73 ตัน มูลค่า 120,469.34 ล้านบาท) ซึ่งกรมวิชาการเกษตรพร้อมจะอำนวยความสะดวกในการตรวจคุณภาพ และรับรองสุขอนามัยพืช ให้เป็นทุเรียนไทยทุเรียนคุณภาพ เป็นที่เชื่อมั่นของตลาดภายในและต่างประเทศ ตามนโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนส่งออกไปยังปลายทางประเทศจีน