1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. การสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ “IGNITE THAILAND จุด…

การสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ “IGNITE THAILAND จุดประกายเกษตรไทยสู่ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก”

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ “IGNITE THAILAND จุดประกายเกษตรไทยสู่ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก” โดยมีนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง  ดร.วิลาวัณย์ ใคร่ครวญ ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษดังกล่าว ณ ห้องแซฟไฟร์ 204 – 206 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

พร้อมกันนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “ขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก” โดยเสนอนโยบาย 9 ด้าน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย 1. การจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร โดยการปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) โฉนดเพื่อการเกษตร 2. การจัดทำข้อมูลเกษตรกร แปลงเกษตรกรในระบบดิจิทัลและการประกันภัยพืชผล 3. การส่งเสริมฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน ส่งเสริมนวัตกรรมจุลินทรีย์ 4. การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อการเกษตร  5. การผลักดันสินค้าเกษตรมูลค่าสูง 6. การส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็ง ผ่านสหกรณ์การเกษตร เกษตรแปลงใหญ่ และการรวมกลุ่มเกษตรกร 7. การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ผ่านการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก พ.ศ.2569 และการท่องเที่ยวชุมชน  8. การเปลี่ยนแปลงสภาวะสิ่งแวดล้อม โดยการผลิตพืชแบบยั่งยืนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการกักเก็บคาร์บอน แก้ไขปัญหา PM 2.5 รองรับการเปลี่ยนแปลงของโรคอุบัติใหม่ 9. การทำงานและการวิจัยภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ โดยเร่งการนำมาใช้ประโยชน์สูงสุด พร้อมเน้นย้ำสินค้าเกษตรไทยคือหัวใจสำคัญทางเศรษฐกิจ

ในภาคบ่ายเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ  Agri-Workshop ประกอบด้วย กลุ่มจุดประกาย 1: ยกระดับราคาสินค้า ส่งเสริมการปลูกพืชที่เหมาะสม ลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสู่การเพิ่มรายได้ (Demand-Supply ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ) และ กลุ่มจุดประกาย 2: มาตรการเสริมแกร่งเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยมี กลุ่มวิจัยพิเศษ 9 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย กลุ่มย่อยที่ 1 ข้าว กลุ่มย่อยที่ 2 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง กลุ่มย่อยที่ 3 ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กลุ่มย่อยที่ 4 ทุเรียน ลำไย กลุ่มย่อยที่ 5 พืชใหม่ : ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ กลุ่มย่อยที่ 6 ปศุสัตว์ : โคเนื้อ ไก่เนื้อ และกุ้ง กลุ่มย่อยที่ 7 ปัจจัยการผลิต (พันธุ์ ดิน ปุ๋ย น้ำ น้ำท่วม น้ำแล้ง) กลุ่มย่อยที่ 8 เทคโนโลยี (Precision Farming & Machinery) และกลุ่มย่อยที่ 9 Sustainability & Risk Management (Carbon Credit ลดเผา ประกันภัย)

ในโอกาสนี้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานหลักในกลุ่มย่อยที่ 5 พืชใหม่ : ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ได้เสนอโครงการนำร่องบูรณาการการปลูกขยายถั่วเหลืองถั่วเขียว ในพื้นที่นำร่อง พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย และ การผลิตกาแฟยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงกาแฟแบรนด์ไทย เชิงเกษตรท่องเที่ยว ในพื้นที่นำร่อง เชียงใหม่ เชียงราย และโรบัสตาพื้นที่นำร่องชุมพรระนอง โดยยกระดับมาตรฐานการปลูกแบบครอบคลุม ทั้งมาตรฐาน GAP และ EUDR

นอกจากนี้ ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานหลักในกลุ่มย่อยที่ 8 เทคโนโลยี (Precision Farming & Machinary) และดร.สุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร เป็นประธานหลักในกลุ่มย่อยที่ 3 ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสวน ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชไร่ ผู้เชี่ยวชาญดินและปุ๋ย ผู้เชี่ยวชาญในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กองแผนงานและวิชาการ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช และผู้ร่วมสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม Workshop ในครั้งนี้ด้วย

Related
แชท
Skip to content