1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. ธรรมนัส  สั่งการกรมวิชาการเกษตร เร่งทำความเข้าใจแก…

ธรรมนัส  สั่งการกรมวิชาการเกษตร เร่งทำความเข้าใจแก่ชาวสวนมะพร้าวประจวบฯ ในการใช้สารเคมี ป้องกันกำจัดหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม ต้นไม่เสียหาย ไร้สารพิษตกค้างในผลผลิต

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว ให้กำลังใจชาวสวนพร้อมมอบโฉนดเพื่อการเกษตร และปัจจัยการผลิตดูแลมะพร้าวให้ผลผลิตดี ไม่มีศัตรูรบกวน

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้รับข้อสั่งการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ให้กรมวิชาการเกษตร เข้าไปแก้ไขปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกรในการใช้สารเคมีฉีดเข้าลำต้น ไม่ทำให้ต้นมะพร้าวเสียหาย ไร้สารพิษตกค้างในผลผลิต โดยมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 และสำนักวิจัยและพัฒนาอารักขาพืช ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม แก่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวให้สามารถควบคุมและป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวได้ทันท่วงที เพื่อลดความเสียหายของผลผลิต พร้อมทั้งแนะนำเทคโนโลยีใหม่ที่มีการฉีดสารเคมีอีมาเม็กติน เบ็นโซนเอต 1.92% EC ฉีดเข้าลำต้น โดยต้นสูงกว่า 12 เมตร ใช้อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อต้น ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ ส่วนต้นสูง 4-12 เมตร ใช้อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อต้น สำหรับต้นต่ำกว่า 4 เมตร ไม่สามารถเจาะฉีดสารเคมีเข้าลำต้นได้ ให้ทำการพ่นชีวภัณฑ์บีทีที่มีประสิทธิภาพและได้การรับรองจากกรมวิชาการเกษตร อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง หลังจากนั้นจึงปล่อยแตนเบียนโกนิโอซัส นีเฟนติดีส จำนวน 200 ตัวต่อไร่ ทุกเดือน และแตนเบียนบราไคมีเรีย จำนวน 120 ตัวต่อไร่ ทุก 7 วัน ต่อเนื่อง 1 เดือน ในแปลงมะพร้าวพื้นที่ 8 ไร่ และแปลงสาธิตการพ่นชีวภัณฑ์บีทีตามอัตราที่แนะนำข้างต้น เพื่อป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวด้วยเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ โดยดำเนินการในแปลงพื้นที่ 4 ไร่  ซึ่งต้นยังสูงไม่ถึง 4 เมตร จึงไม่สามารถเจาะเพื่อฉีดสารเคมีเข้าลำต้นได้ อีกทั้งยังได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ที่พร้อมให้การช่วยเหลือเกษตรกรมอบสารอีมาเม็กติน เบ็นโซเอท 1.92%EC ให้เจ้าหน้าที่ร่วมมือกับเกษตรกรจิตอาสา  เข้าฉีดสารเคมีเข้าลำต้นมะพร้าวได้กว่า 1,000 ต้น ในพื้นที่กว่า 30 ไร่ สำหรับใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว จำนวน 372,023 ไร่ เป็นอาชีพและรายได้หลักของเกษตรกรในพื้นที่ จากสภาวะแห้งแล้งทำให้มีการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวและแมลงดำหนามมะพร้าว ปัจจุบันมีการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่ 12,388 ไร่ ผลกระทบกับเกษตรกร 1,649 ราย และมีการระบาดของแมลงดำหนามมะพร้าวในพื้นที่ 7,595 ไร่ ผลกระทบกับเกษตรกร 1,486 ราย หากป้องกันกำจัดล่าช้าอาจมีการแพร่ระบาดรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้น

พร้อมกันนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชาวสวนมะพร้าวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย โดยในส่วนของกรมวิชาการเกษตร มีการจัดนิทรรศการและสาธิตการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว พร้อมทั้งจัดนิทรรศการ การตรวจรับรองแหล่งผลิตมะพร้าวตามมาตรการการใช้แรงงานลิง ในกระบวนการผลิตมะพร้าวเพื่อการส่งออก (GAP Monkey Free Plus) ด้วย เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกระบวนการผลิตตั้งแต่ในสวนถึงโรงงานตามระบบตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ได้ ผลิตจากสวนไหนและไม่มีการใช้แรงงานลิงในการเก็บเกี่ยว

นอกจากนี้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่เปิดและติดตามการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาประจวบคีรีขันธ์ โดยนายกิติพร เจริญสุข ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของ ศวพ. ประจวบคีรีขันธ์ อาทิ โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร โครงการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ และความคืบหน้างานก่อสร้าง ลานตาก อาคารเอนกประสงค์ บ้านพัก 5 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานและที่พักบุคลากรดังกล่าว

Related
แชท
Skip to content