1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. ติดตามการดำเนินงานแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง

ติดตามการดำเนินงานแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามการดำเนินงานแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง ของนายนุกูล นามปราศัย เกษตรกรต้นแบบ “ปทุมธานีโมเดล การผลิตกล้วยหอม สลับข้าวโพดหวาน สร้างรายได้สูง” ในโครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย มูลค่าสูง ที่จัดทำโดยกรมวิชาการเกษตร ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าภายใน 4 ปี ในโอกาสนี้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ร่วมกับ รมว.เกษตร ณ แปลงใหญ่กล้วยหอมทอง นายนุกูล นามปราศัย ต.นพรัตน์ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ด้วย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีข้อสั่งการให้กรมวิชาการเกษตร ยกร่างของบประมาณ โดยขอใช้งบกลางในปี พ.ศ. 2567 สำหรับใช้ในการตรวจรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) พร้อมทั้งตรวจโรงคัดบรรจุที่ต้องผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุ (GMP) สำหรับฤดูกาลส่งออกผลไม้ ปี 2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุเรียน ลำไย ในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ซี่ง รมว.เกษตร จะลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าในพื้นที่ ในเดือน เมษายนนี้

สำหรับแปลงใหญ่กล้วยหอมทองของนายนุกูล นามปราศัย เริ่มทำการเกษตรจากที่ดิน 3 ไร่ จนปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมจำนวน 317 ไร่ โดยทำการปลูกกล้วยหอม เป็นพืชหลัก สลับกับการปลูกข้าวโพดหวาน เพื่อเป็นการพักแปลง ลดการเกิดโรคและแมลง และใช้ต้นข้าวโพดเป็นปุ๋ยพืชสด เพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งกิจกรรมเด่น ภายในแปลงจนสร้างรายได้สุทธิ 208,520 บาท/ไร่/ปี ได้แก่

1. การปลูกกล้วยหอม โดยใช้เทคโนโลยี ของกรมวิชาการเกษตร ดังนี้ ใช้ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต และ ไม่คอร์ไรซา เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตและรายได้เพิ่มประมาณ 5-10% คิดเป็น 2,500-4,500 บาท/ไร่/ปี

2. การปลูกข้าวโพดหวาน โดยหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว ใช้ต้นข้าวโพดเป็นปุ๋ยพืชสด เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรที่ใช้ได้แก่ ปุ๋ยชีวภาพ PGPR-1 สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรประมาณ 6,840 บาท/ไร่/ปี

3. การแปรรูปผลผลิตกล้วยหอม โดยใช้ผลผลิตที่ตกเกรดเพื่อไม่ให้มีของเหลือใช้ เป็นกล้วยอบกรอบ เค้กกล้วยหอม น้ำปั่นกล้วยหอม สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรประมาณ 120,680 บาท/ไร่/ปี

4. มีสมาชิกแปลงใหญ่กล้วยหอม 30 ราย ได้การรับรอง GAP แล้ว 11 ราย ที่เหลืออยู่ในระหว่างการดำเนินการ

5. เทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตรที่นำมาปรับใช้เพิ่มเติมได้แก่ การผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ และการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว

    Related

    Powered by WordPress

    แชท
    Skip to content