เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ ดร.วิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วม หารือและแก้ไขปัญหาด้านประมง พร้อมเปิดตลาดการค้าด้านการเกษตรร่วมกัน โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย (H.E. Mr. David Daly : Ambassador of European Union Delegation to Thailand) โดยมี นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายถาวร ทันใจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ฝ่ายสหภาพยุโรปได้หารือโอกาสที่จะสนับสนุนให้ประชาชนของทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงสินค้าเกษตรจากทั้งไทยและสหภาพยุโรปที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ รวมทั้งสถานะความคืบหน้าการเจรจา FTA ไทย – สหภาพยุโรป โดยเฉพาะข้อบทเกี่ยวกับการเกษตรซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับการหารือในวันนี้ ในประเด็นของความร่วมมือด้านประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สร้างความมั่นใจให้กับฝ่ายสหภาพยุโรปว่า ประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญต่อหลักการต่อต้านการทำประมง IUU และตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารระหว่างกันในทุกระดับครอบคลุมทั้งนโยบายและเชิงเทคนิค ซึ่งเป็นกุญแจสู่การเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันเกี่ยวกับแนวทางบริหารภาคการประมงอย่างยั่งยืนของไทย รวมทั้งเน้นย้ำการดำเนินงานร่วมกันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านพืชและปศุสัตว์ผ่านการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างหน่วยงานรับผิดชอบหลักและคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เพื่อติดตามสถานะสินค้าระหว่างกันเป็นระยะ
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ระหว่างไทย – สหภาพยุโรป เพื่อลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประชาคมโลก รวมถึงสหภาพยุโรป ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลความเป็นอยู่ของเกษตรกร จำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงการดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และระบบนิเวศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรในการแข่งขันกับตลาดโลก
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 4 ของไทย โดยสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตร (2564-2566) คิดเป็นร้อยละ 6.10 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลก และมีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 137,110 ล้านบาท และไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับสหภาพยุโรปมาโดยตลอด สำหรับสินค้าเกษตรส่งออกไทย 5 ลำดับแรก (เรียงตามมูลค่า) ได้แก่ 1) ยางธรรมชาติที่กำหนดไว้ในทางเทคนิค 2) ไก่ปรุงแต่ง อาทิ แกงไก่ที่บรรจุกระป๋อง 3) อาหารสุนัขหรือแมวสำหรับขายปลีก 4) ยางแผ่นรมควัน และ 5) ซอสและของปรุงรสอื่น ๆ อาทิ ซอสพริก น้ำปลา กะปิ