1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการโครงการพัฒนาตามพระ…

ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ในวันที่ 15 มีนาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบบูรณาการอย่างครบวงจรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์ฯ มีพื้นที่ทั้งสิ้น 25 ไร่ 1 งาน 28 ตารางวา โดยมีหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมหม่อนไหม กรมปศุศัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมบูรณาการจัดการพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน โดยกรมวิชาการเกษตรเข้าไปดำเนินการจัดทำฐานเรียนรู้การผลิตพืชแบบผสมผสาน ซึ่งมีไม้ผลเป็นพืชหลัก เน้นการจัดแต่งทรงพุ่มไม้ผลและจัดการดูแลพืชผัก ได้แก่ ลำไย มะม่วง ผักหวานป่า ผักหวานบ้าน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกำชับให้หน่วยงานภายในสังกัดเร่งดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารชีวภัณฑ์สู่หน่วยงานในภูมิภาค อาทิ เชื้อราบิวเวอเรีย-ไตรโคเดอร์มา-เมตาไรเซียม เชื้อแบคทีเรีย BT-BS เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ปุ๋ยชีวภาพ PGPR รวมไปถึงจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซัง ซึ่งเป็นชีวภัณฑ์ชนิดใหม่จากงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรที่สามารถย่อยสลายตอซังข้าวภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกรในป้องกันกำจัดและควบคุมโรค-แมลงศัตรูพืช รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตพืชสู่สินค้าเกษตรมาตรฐานปลอดภัย ผลักดันสู่การส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอนาคต

นอกเหนือจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้วางแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารชีวภัณฑ์ดังกล่าวสู่เกษตรกร เป็นการขยายผลโครงการเกษตกรต้นแบบ 76 จังหวัด 76 โมเดล ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ว่า “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้แก่เกษตรกร” อีกด้วย

ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตรยังมีโครงการสำคัญที่มุ่งเป้าเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามหลัก 3R โมเดล ซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 สำหรับภาคการเกษตร ดังนี้

  • Re-Habit : ส่งเสริมให้เกษตรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผาในทุกขั้นตอน
  • Replace with perennial crops : ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นที่สูง ให้เป็นการปลูกพืชที่ปลอดการเผา และลดการบุกรุกป่า จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่มีมูลค่าสูง อาทิ กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด มะม่วง เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้จากพืชที่มีมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน
  • Replace with Alternate crops : ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นราบ เพื่อส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้หมาะสม และสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ลดใช้น้ำ ปลูกพืชแบบปลอดการเผา บริหารจัดการผลผลิตตลอดจนการจำหน่าย
    จากที่กล่าวข้างต้น กรมวิชาการเกษตรจึงได้เร่งดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ซึ่งถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นที่ต้องการของตลาดในตอนนี้ และถั่วเหลืองเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยนับว่าเหมาะสมสำหรับการปลูกหลังนาเป็นอย่างมาก

โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์เชียงใหม่ ภายใต้การกำกับดูแลของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้เป็นไปตามหลัก 3R ซึ่งเป็นแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า) ในปี 2567 สำหรับฤดูแล้งสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองชั้นพันธุ์คัดและชั้นพันธุ์หลักแล้ว จำนวน 3.05 และ 6.4 ตัน ตามลำดับ และคาดว่าจะสามารถผลิตในฤดูฝนที่จะมาถึงอีกจำนวน 2.45 และ 14.35 ตัน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะได้นำเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองชั้นพันธุ์หลักส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผลิตเป็นเมล็ดขยายและชั้นพันธุ์จำหน่ายสู่เกษตรต่อไป

Related
แชท
Skip to content