1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. ติดตามขยายผลโครงการความร่วมมือทางการเกษตร ระหว่าง …

ติดตามขยายผลโครงการความร่วมมือทางการเกษตร ระหว่าง ไทย – ลาว และพาเยี่ยมชมแปลงทุเรียนขนาดใหญ่ ของ สปป. ลาว

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2567 นายบุญจันทน์ คมบุญสิทธิ์ อธิบดีกรมปลูกฝัง นำ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะ ติดตามขยายผลโครงการความร่วมมือทางการเกษตร ระหว่าง ไทย – ลาว และพาเยี่ยมชมแปลงทุเรียนขนาดใหญ่ ของ สปป. ลาว

ปัจจุบันรัฐบาล สปป. ลาว ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแบบยั่งยืน และมีการส่งเสริมการปลูกทุเรียนมากขึ้น โดยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนในประเทศประมาณ 25,000 ไร่ เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศชาติ โดยในอนาคตคาดว่า สปป. ลาว จะส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศเช่นกัน โดยมีจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกรองรับ

หลายประเทศ เริ่มมีการปลูกทุเรียนกันมากขึ้น และสามารถเริ่มให้ผลผลิตพร้อมที่จะส่งออก ประเทศไทย ในฐานะผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก ต้องเน้น และยกระดับการปลูกทุเรียนคุณภาพให้มากยิ่งขึ้น ทุกภาคส่วนทั้ง เกษตรกร นักคัด นักตัด โรงคัดบรรจุ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องการป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การป้องกันการแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน การใช้ชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร รวมถึงการป้องกันการสวมสิทธิ์ในการขึ้นทะเบียนแปลง GAP และการให้บริการคลินิกเคลื่อนที่ต่างๆ ที่จะนำการบริการ และองค์ความรู้ด้านวิชาการเกษตรส่งถึงมือเกษตรกรโดยตรง เพื่อรักษาตลาดของประเทศไทยในการเป็นผู้นำการส่งออกทุเรียนโลกต่อไป

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังมีการให้องค์ความรู้ กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนแบบชาวบ้าน ที่เน้นการบริโภคเองในครัวเรือน แต่ปัจจุบันมีความต้องการที่จะส่งออก ซึ่งพบในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ที่ยังคงปลูกทุเรียนแบบดั้งเดิม ต้องการที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง การดูแล เอาใจใส่ อย่างใกล้ชิดจากกรมวิชาการเกษตร ให้ได้รับมาตรฐานการผลิตทุเรียน GAP ที่จะสามารถก้าวสู่การเป็นทุเรียนคุณภาพทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออกต่อไป

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า ตามที่มีประกาศกำหนด “หลักปฏิบัติในการตรวจและรับทุเรียนสำหรับโรงรวบรวม และโรงคัดบรรจุ” จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร มีการนำร่องสร้างการรับรู้ เตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยร่วมมือกับ จังหวัด จันทบุรี ระยอง ทั้งภาคเกษตรกร และผู้ประกอบการในการเตรียมซ้อมใหญ่ เพื่อรองรับการส่งออก โดยมีซักซ้อมความเข้าใจทั้ง เกษตรกรเจ้าของสวนที่ต้อง ตรวจคุณภาพทุเรียนก่อนส่งล้ง นักคัด/นักตัด ต้องผ่านการขึ้นทะเบียน และผ่านการอบรม ผู้ประกอบการล้ง ต้องมีผู้ตรวจรับทุเรียนที่ผ่านการอบรม ต้องมีข้อมูลการรับซื้อทุเรียน การบรรจุ การส่งออก เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นการเพิ่มมูลค่า และรักษาไว้ซึ่งคุณภาพของทุเรียนสำหรับการส่งออกต่อไป

#กรมวิชาการเกษตร#DOATOGETHER

#51ปีกรมวิชาการเกษตร

Related
แชท
Skip to content