1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมเสวนา “เกษตรไม่เผา เธอรั…

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมเสวนา “เกษตรไม่เผา เธอรัก (ภู) เขา ดาวก็รักเธอ” พร้อมเสนอ ร่างอนุบัญญัติกฎหมายเกษตร เพื่อรองรับ พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมรับฟัง และมอบนโยบายการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “เกษตรไม่เผา เธอรัก (ภู) เขา ดาวก็รักเธอ” ภายใต้โครงการสร้างการรับรู้และขยายผลการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ในโอกาสนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมเสวนาวิชาการ และ นำเสนอ ร่างอนุบัญญัติกฎหมายเกษตร เพื่อรองรับ พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ร่างอนุบัญญัติกฎหมายเกษตร จัดทำเพื่อรองรับ พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาในระยะยาว ตามโครงการศึกษาเชิงนโยบายเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเกษตรเพื่อให้สอดคล้องกับ ร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมีบทเฉพาะกาล เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 3R ทางกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงาน เพื่อร่าง อนุบัญญัติฯ สำหรับภาคเกษตร เพื่อรองรับ พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยมีสาระหลักๆ 4 หมวด ประกอบด้วย

​หมวด 1 กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน

​เป็น การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์การใช้ที่ดินสำหรับปลูกพืชต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสม และมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของภาคธุรกิจ เข้าลักษณะเป็นการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 5 (2) แห่งพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522

​หมวด 2 การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูง

​หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูง อาจมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นเลขานุการ

​หมวด 3 การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรแบบไม่เผาสำหรับการเพาะปลูกข้าว

​หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การปรับเปลี่ยนมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลัก ได้แก่ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน

​หมวด 4 ระบบการรับรองผลิตผลทางการเกษตรแบบไม่เผา (PM 2.5 Free )

​มีการแยกข้อกำหนดตามชนิดพืชสำคัญ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน โดยกรมวิชาการเกษตร และ ข้าว โดยกรมการข้าว

อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 ดำเนินการในหลายๆ กิจกรรมดังนี้ การร่วมจัดนิทรรศการ และดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เพื่อลด PM2.5 ภาคเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ จำนวน 7 ตำบล 10 หมู่บ้าน 32,160 ไร่ 2,048 ครัวเรือน รวมถึงการตรวจรับรอง GAP ข้าวโพดเมล็ดแห้ง (มกษ.4402-2553) ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566

โดยจัดทำแปลงต้นแบบการผลิตพืชแบบไม่เผาตามแนวทาง 3R ลดปัญหาฝุ่นควันภาคเกษตรอย่างยั่งยืน

1.Re-Habit ปรับเปลี่ยนนิสัย/พฤติกรรมการปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผา เช่น การปลูกข้าวโพด อ้อย ในพื้นที่เดิมแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปลูกที่ไม่เผา

2.Replace with High value crops ปรับเปลี่ยนพืชจากพืชล้มลุกเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น ไม้ผล (กาแฟ มะคาเดเมีย อะโวกาโด) หรือไม้ยืนต้น และไม้โตเร็วที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน

3.Replace with Alternate crops ปรับเปลี่ยนพืชในพื้นที่นาปรัง หรือพื้นที่นอกชลประทานเป็นข้าวโพด หรือพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู สำหรับข้าว ช่วยตรึงไนโตรเจน ละลายฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เพิ่มการนำธาตุเหล็ก เข้าเซลล์พืช โดยใช้พีจีพีอาร์-ทู 1 ถุงคลุกเมล็ดก่อนปลูก หรือใช้ผสมกับปุ๋ยหมักหมัก 250 กก./ไร่ หรือใช้คลุกเคล้ากับปุ๋ยเคมีรองพื้น 15-20 กก./ไร่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดน้ำและปุ๋ย 15% เพิ่มปริมาณราก 20% เพิ่มผลผลิตข้าว 10% ลดการใช้ปุ๋ยเคมี 25%

การใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์เพื่อลดการเผาตอซังข้าวและทำปุ๋ยหมัก ช่วยหมุนเวียนธาตุอาหารในนาข้าว ประหยัดต้นทุนการไถ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินและลดฝุ่น PM2.5 รวมถึงการจัดทำโครงการการพัฒนากระบวนการผลิต ถ่านชีวภาพ (Biochar) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) และทดสอบการใช้ประโยชน์ในการผลิตกาแฟอะราบิกาและโรบัสตาแบบ Low carbon ต่อไป

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ประชาชน และเกษตรกรโดยทั่วไปต้องรับรู้ และร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขให้ทันการณ์ มีความเข้าใจสาเหตุของปัญหาที่ถูกต้อง รวมถึงตระหนักว่าการก่อมลพิษมีต้นทุนที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ และขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมกัน ในการสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างมี สุขภาพที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่สะอาด สามารถสร้างการรับรู้ในวงกว้าง และขยายผลการแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

#กรมวิชาการเกษตร#DOATOGETHER

#51ปีกรมวิชาการเกษตร

Related
แชท
Skip to content