1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. การลงพื้นที่แปลงทุเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์

การลงพื้นที่แปลงทุเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ โดยนางอารีรัตน์ พระเพชร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ ให้การต้อนรับ ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายละเอียด ปั้นสุข ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 และคณะกรรมการบริหาร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

โดย ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ ลงพื้นที่ดูแปลงตัวอย่างแปลงทุเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์​ที่มีการบริหารจัดการแปลงเพื่อป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ของนายชยพล รังสฤษณ์นิธิกุล ณ หมู่บ้านท้องลับแลพัฒนา หมู่ที่ 10 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เนื่องจากปัจจุบันมีการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทุเรียนโดยเฉพาะพื้นที่ในเขตภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลผลิตทุเรียน ทำให้เกษตรกรขายทุเรียนได้ในราคาที่ต่ำลง และขาดความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค อีกทั้งกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งออกทุเรียนไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน 

หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (Mudaria luteileprosa Halloway) หรือ หนอนใต้ หรือ หนอนรู หรือ หนอนมาเลย์ มีพืชอาศัยชนิดเดียว คือ ทุเรียน จึงเป็นแมลงศัตรูที่มีความสำคัญ และทำความเสียหายต่อผลผลิตทุเรียนเป็นอย่างมาก  ลักษณะการทำลาย ตัวเต็มวัยที่เป็นผีเสื้อกลางคืน จะวางไข่บริเวณหนามทุเรียนในระยะผลอ่อนที่เมล็ดภายในแข็ง หรือ อายุผล 6 สัปดาห์ หลังจากนั้นเมื่อหนอนฟักตัวจะเจาะเข้าไปในเมล็ดภายในผลทุเรียน กัดกิน และขับถ่ายมูลปนเปื้อนกับเนื้อทุเรียน เมื่อหนอนโตเต็มที่จะออกมาจากผลทุเรียนและเข้าดักแด้ในดิน และออกจากดักแด้ในปีถัดไป มักพบการระบาดทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนสูงมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากฝนเป็นตัวกระตุ้นให้ตัวเต็มวัยออกจากดักแด้ และทำลายผลทุเรียน แต่เมื่อสังเกตภายนอกจะไม่พบร่องรอยของการทำลาย เกษตรกรจะทราบก็ต่อเมื่อหนอนโตเต็มที่พร้อมดักแด้เจาะเปลือกทุเรียนเป็นรูออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดิน ทำให้ยากต่อการป้องกันกำจัด  กรมวิชาการเกษตรได้วางแนวทางการดำเนินการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่มีผลกระทบต่อการส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีการใช้วิธีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนด้วยวิธีการผสมผสาน และกำหนดมาตรการคัดกรอง 4 ชั้น เพื่อลดความเสี่ยงในแปลงเกษตรกร จนถึงกระบวนการส่งออก เพื่อคัดเลือกทุเรียนคุณภาพ และปราศจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง  

ทั้งนี้ นายชยพล รังสฤษณ์นิธิกุล เป็นเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียน โดยมีจุดเด่นที่ทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล ที่มีรสชาติดี เนื้อแห้ง รสชาติละมุน หวานหอม ตรงตามลักษณะที่ผู้บริโภคต้องการ นอกจากนี้เกษตรกรยังมีวิธีการบริหารจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนแบบผสมผสานที่เน้นความปลอดภัย แต่ได้ประสิทธิภาพสูง ด้วยการใช้ไดทีโนฟูเรน 1% GR อัตรา 1 กก./ต้น โรยใต้ทรงพุ่มช่วงที่ทุเรียนออกดอก ร่วมกับการติดกับดักแสงไฟ การใช้หัวน้ำส้มแขวนไว้ใต้ทรงพุ่มเพื่อคอยไล่แมลง การลงพื้นที่ดูแปลงตัวอย่างของเกษตรกรในครั้งนี้ เพื่อกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนด้วยวิธีผสมผสานและสามารถนำวิธีการของเกษตรกรที่ประสิทธิภาพมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เพื่อควบคุมการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่จะสร้างความเสียหายในฤดูกาลหน้าได้ ในการนี้  ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง ได้กำชับให้สารวัตรเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 กำกับ ดูแล การใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ที่ควบคุมปัจจัยการผลิต อย่างเข้มงวดต่อไป

Related
แชท
Skip to content