เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมาย ดร.ณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช รักษาการในตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการกรมวิชาการเกษตร ครั้งที่ 6/2567 (กำหนดจัดระหว่างวันที่ 2 – 3 ธันวาคม 2567) โดยมี ที่ปรึกษาอธิบดีกรมวิชาการเกษตร คณะผู้เชี่ยวชาญกรมวิชาการเกษตรทุกท่าน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จ.อุบลราชธานี ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ เข้าร่วมการประชุม และทีมกองแผนงานและวิชาการเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยที่ประชุมได้ร่วมรับฟังการบรรยายสรุปและลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานวิจัยแผนงานวิจัย/โครงการวิจัยของ สวพ.4 ในสภาพห้องปฏิบัติการ โรงเรือน และแปลงทดลอง ในพื้นที่ สวพ.4 และหน่วยงานเครือข่าย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. งานวิจัยการตรวจสอบความใช้ได้วิธีวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ fipronil imidacloprid และ dinotefuran ในผลิตภัณฑ์สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเทคนิคการทดสอบแบบสารรวมและสารเดี่ยวในการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่จำหน่ายในท้องตลาด ณ ห้องปฏิบัติการทดสอบวัตถุอันตรายทางการเกษตร อาคารปฏิบัติการตรวจสอบรับรองคุณภาพมาตรฐาน สวพ.4
2. งานวิจัยการตรวจวิเคราะห์สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในสิ่งแวดล้อมพื้นที่เกษตรกรรมลุ่มน้ำมูล และการสำรวจสารพิษตกค้างในเงาะ มะม่วง และทุเรียนจากแหล่งผลิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภายใต้โครงการวิจัยการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผลิตผลเกษตรและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องปฏิบัติการทดสอบสารพิษตกค้าง อาคารปฏิบัติการตรวจสอบรับรองคุณภาพมาตรฐาน สวพ.4
3. การผลิตชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ในโครงการวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชสมุนไพรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ณ อาคารผลิตชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพ สวพ.4
4. การผลิตและใช้ประโยชน์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีควบคุมโรคพืชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ณ อาคารผลิตชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพ สวพ.4
5. การขยายผลชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ บาซิลลัส ซับทีลิส 20W1 (ควบคุมโรคใบจุด) บีที กำจัดหนอนกระทู้ผัก เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่แปลงสาธิตฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ และแปลงสาธิตปลูกพืชผสมผสานพื้นที่ 10 ไร่ ที่ปลูกไม้ผลผสมผสานการผลิตพืชอินทรีย์ และการสร้างบ่อขยายแหนแดง 1 บ่อ บ่อแม่พันธุ์ 5 บ่อ แจกจ่ายเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาดูงานและเกษตรกรพื้นที่ใกล้เคียง ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ อำเภอเขื่องใน จ.อุบลราชธานี
อีกทั้งที่ประชุมยังได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลสะท้อนกลับที่เป็นประโยชน์ เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายทิศทางงานวิจัยและนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตร ไปสู่การปฏิบัติวิจัยเชิงรุกตามแนวทางนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่มุ่งเน้นพัฒนางานวิจัยตามพันธกิจของกรมฯ และดำเนินงานตามแนวทาง “BALANCE DOA TOGETHER” ให้ได้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและประเทศก้าวทันต่อบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป