นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร มีการเก็บรักษา “หนังสือเก็บพันธุ์ตัวอย่างพรรณไม้เล่มแรกของไทย”โดยเก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ได้มากกว่า 40,000 หมายเลข ซึ่งในจำนวนนี้มีพรรณไม้ที่ได้รับการค้นพบเป็นครั้งแรกของโลกในประเทศไทยจำนวนมาก ถือเป็นมรดกทางวิชาการที่สำคัญในประวัติศาสตร์พฤกษศาสตร์ของประเทศไทยโดยพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ ตั้งอยู่ใน “อาคารพิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร” กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นอาคารที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางศิลาฤกษ์และพระราชทานนามให้สถานที่แห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2543 เป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้แห้ง พร้อมข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ และเรื่องราวความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย
จุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ เริ่มจากในปี ๒๔๔๕ นายแพทย์คาร์ (A.F.G. Kerr) ชาวไอริชเดินทางเข้ามาในประเทศไทย มีความสนใจเก็บรวบรวม และสำรวจพรรณไม้ในภาคเหนือ ซึ่งสามารถรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ได้จำนวนหนึ่งซึ่งยังไม่เคยมีการสำรวจรวบรวมมาก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมตรวจพันธุ์รุกขชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่สำรวจและตรวจสอบงานที่เกี่ยวข้องกับด้านพฤกษศาสตร์สากล โดยมีนายแพทย์คาร์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของกรมตรวจพันธุ์รุกขชาติเป็นคนแรกและใช้พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ที่สำรวจพบและจัดเก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้งตามหลักสากล ต่อมากรมตรวจพันธุ์รุกขชาติได้ผนวกรวมกับกรมเพาะปลูก และเปลี่ยนชื่อเป็นกรมตรวจกสิกรรม รวมทั้งงานทางด้านการเกษตรขยายงานเพิ่มเติมมากขึ้นกรมตรวจพันธุ์รุกขชาติเดิม จึงถูกปรับเปลี่ยนสถานะเป็นกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ สังกัดอยู่ในกองพฤกษศาสตร์และวัชพืช กรมวิชาการเกษตร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์พืชสิรินธรได้ถูกจัดให้มีสถานที่รวบรวมและเก็บบันทึกเรื่องราวการทำงานด้านอนุกรมวิธานพืช การศึกษาสำรวจพรรณไม้ และการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์พืช รวมไปถึงการเก็บรักษาหนังสือ เอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านพรรณไม้ หนึ่งในนั้น คือ หนังสือวิธีการเก็บตัวอย่างพรรณไม้เล่มแรกของไทย โดยหนังสือเล่มนี้ได้รับการพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ มีชื่อตามปรากฏบนหน้าปกว่า “วิธีเก็บพันธุ์ไม้โดยสังเขป เนื้อหาภายในเล่ม เป็นการถ่ายทอดความรู้วิธีการเก็บตัวอย่างพรรณไม้ การจัดทำตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิง รวมไปถึงการบันทึกข้อมูลลักษณะต่างๆ ของพรรณไม้ที่สำรวจพบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาและปฏิบัติงานด้านพฤกษศาสตร์และงานด้านอนุกรมวิธานพืช เมื่อเปิดอ่านแล้ว จะพบว่า ผู้เขียนนั้นมีความตั้งในเรียบเรียงให้มีความเข้าใจง่าย มีการบรรยายขั้นตอนวิธีการต่างๆ สำหรับการจัดเก็บตัวอย่างพรรณไม้ การจัดทำตัวอย่างพรรณไม้แห้ง รวมถึงการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ อีกทั้งมีการวาดภาพประกอบ เพื่อใช้ในการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายขึ้นอีกด้วยถือเป็นต้นแบบในผลิตหนังสือตำราให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบันนี้
“กรมวิชาการเกษตรขอเชิญชวนผู้ที่สนใจ สามารถเข้าชมหนังสือวิธีการเก็บพันธุ์ไม้เล่มโบราณนี้และเอกสารเก่าแก่ฉบับอื่น ๆ ได้ที่อาคารพิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร กรมวิชาการเกษตร รวมถึงสามารถติดต่อขอใช้บริการตรวจสอบชนิด รายชื่อพรรณไม้ หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของพรรณไม้ได้ที่สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตรโดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 0-2 940 5628” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว