1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. กรมวิชาการเกษตร เข้ม จับมือ มกอช. หน่วยเฉพาะกิจพญา…

กรมวิชาการเกษตร เข้ม จับมือ มกอช. หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช สินค้าเกษตรส่งออก ต้องปลอดภัย เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับ นายชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราชเรื่องการขับเคลื่อนแผนบูรณาการ และแนวทางการดำเนินการกรณีสินค้าเกษตรไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการสนับสนุนการตรวจติดตามการปนเปื้อนของสารตกค้างในทุเรียน และลำไยส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงแนวทางการดำเนินการกรณีสินค้าเกษตรไม่ได้มาตรฐานภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง สอดรับการนโยบายสินค้าเกษตร ต้องปลอดภัย และมีมูลค่าสูงของ ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

        

  จากการหารือ ได้ข้อสรุปดังนี้

  • กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ยกระดับ การตรวจสอบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในลำไยไปจีน มีการสุ่มตัวอย่างลำไยในโรงคัดบรรจุตามแผนการ Monitor ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร และตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.1004-2557 รวมถึง กำกับดูแลห้องปฏิบัติการภาคเอกชนในการสุ่มเก็บตัวอย่าง อย่างเข้มงวด
  • เลขาธิการ มอกช. จะพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในขั้นตอนการพักใช้ใบอนุญาตของผู้ประกอบการโรงรมลำไยที่ตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เกินมาตรฐานให้มีความเข้มข้นและรวดเร็วกว่ามาตรการเดิมที่มีอยู่
  • การสุ่ม Monitor โลหะหนักแคดเมียมในผลทุเรียน ดิน น้ำ ในสวน และผลทุเรียนในโรงคัดบรรจุ และให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุสุ่มตัวอย่างทุเรียน เพื่อทดสอบแคดเมียมในทุเรียนทุกล๊อตที่มีการส่งออกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจัดเกรดผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุอีกทาง
  • ในกรณีที่มีเรื่องการข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ในการเข้าไปสุ่มตัวอย่าง ก็จะจัดทีมชุดพญานาคราชเข้าร่วมตรวจด้วย
  • การประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 การบังคับใช้ประกาศฯ กับผู้ประกอบการ ทั้งรายย่อย และรายใหญ่ด้วยความเท่าเทียม เป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส
  • เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมกำกับดูหน่วยงานตรวจรับรอง (Certification Body,CB) เอกชน โดยมีมาตรการให้ สารวัตร GMP สุ่มตรวจ ให้หน่วยตรวจรับรอง (CB) ตรวจเข้ม พร้อมทั้งตรวจผู้แทน CB ว่ามีความรู้ ความสามารถ สอดคล้องตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ และจัดให้มีช่องทางพิเศษในการส่งหลักฐานให้ มกอช.ในกรณีที่ CB ที่มีการตรวจไม่เป็นไปตามข้อกำหนด เพื่อให้ มกอช. สามารถเข้าไปตรวจติดตามในกรณีพิเศษได้รวดเร็วขึ้น 
  • ผลักดันโครงการนำร่อง โดยเริ่มโครงการ 10 มกราคม 2568 ก่อนการบังคับใช้ มกษ.9070 (มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้กำหนดหลักปฏิบัติในขั้นตอนการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุเพื่อให้ได้ผลทุเรียนทั้งผลที่แก่ตามข้อกำหนดของมาตรฐานสำหรับจำหน่ายส่งออก และนำเข้า) ก่อนการบังคับใช้
  • สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) เตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางมาตรวจประเมินโรงคัดบรรจุทุเรียน และลำไยของไทยในเร็วๆนี้ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตั้งคณะทำงานในการเตรียมความพร้อมการรับการตรวจประเมินจากเจ้าหน้าที่ GACC ของจีน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ  กรมส่งเสริมการเกษตร จะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการกำกับ ดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตร เน้นย้ำผัก ผลไม้ และอาหาร ต้องปลอดภัย และมีคุณภาพ สำหรับการบริโภคในประเทศ และส่งออก ตามนโยบาย ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Related
แชท
Skip to content