1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. กรมวิชาการเกษตร บรูณาการร่วมกับ อบจ.สงขลากรมส่งเสร…

กรมวิชาการเกษตร บรูณาการร่วมกับ อบจ.สงขลากรมส่งเสริมการเกษตร Kick Off การแก้ปัญหาหนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวแบบยั่งยืนด้วยวิธีการผสมผสาน

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าตามที่ได้เกิดการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวมากัดกินใบมะพร้าวในสวนมะพร้าวเขตคาบสมุทรสทิงพระ และเขตอื่นๆ ในพื้นที่ จ.สงขลา ทำให้พี่น้องเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน และต้นมะพร้าวเสียหายซึ่ง ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งให้กรมวิชาการเกษตร เข้าแก้ปัญหาดังกล่าว

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา  และกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกิจกรรม Kick OFF การดำเนินการป้องกันกำจัดการระบาดหนอนหัวดำมะพร้าว พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลาเพื่อกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ที่ถือเป็นภัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทย ที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งกำจัด-ป้องกันอย่างเร่งด่วน และถือเป็นบทบาทสำคัญของกรมวิชาการเกษตรในการนำผลงานวิจัยด้านวิชาการในการกำจัดเพื่อตัดวงจรการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวไม่ให้แพร่ระบาดมากขึ้นและลดความรุนแรงการระบาดของหนอนหัวดำไปยังพื้นที่แห่งใหม่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวแบบยั่งยืนด้วยวิธีการผสมผสาน แบบครอบคลุมพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

ในเบื้องต้นหากพบพื้นที่ไหนมีการระบาดของหนอนหัวดำ

  • ที่อยู่ในระดับรุนแรง ต้นมะพร้าวมีทางใบถูกทำลายมากกว่า 10 ใบขึ้นไป ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดดังนี้สารอิมาเมกตินเบนโซเอต 1.92%EC อัตรา 10 มิลลิลิตร/ต้น ในมะพร้าวสูงเกิน 12 เมตร และใช้ อัตรา 5 มิลลิลิตร/ต้น ในมะพร้าวความสูง 4-12 เมตร
  • กรณีระดับความรุนแรงน้อย
  • แบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเจนซีส Bacillus thuringiensis (Bt) อัตรา 80-100 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่นทางใบ 5 ลิตร/ต้น พ่นช่วงเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดด ทุกๆ 7 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง

– ปล่อยแตนเบียนโกนิโอซัส Goniozus nephantidis (แตนเบียนเข้าทำลายระยะหนอนของหนอนหัวดำมะพร้าว) ในช่วงเย็นพลบค่ำ อัตรา 200 ตัว/ไร่ ทุก 7 วัน ติดต่อกัน 4 ครั้ง

– ปล่อยแตนเบียนบราไคมีเรีย Brachymeria nephantidis (แตนเบียนเข้าทำลายระยะดักแด้ ของหนอนหัวดำมะพร้าว) ในช่วงเย็นพลบค่ำ 120 ตัว/ไร่ทุก 7 วัน ติดต่อกัน 4 ครั้ง (ปล่อยร่วมกับแตนเบียน โกนิโอซัสจะควบคุมได้เร็วขึ้น

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การป้องกันการระบาดด้วยการควบคุมด้วยเคมี ในพื้นที่การระบาดอย่างรุนแรง และเฝ้าระวังในพื้นที่ใกล้เคียงหรือพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ที่มีการปลูกมะพร้าว และปล่อยแตนเบียนศัตรูธรรมชาติในพื้นที่ที่มีการระบาดน้อยและพื้นที่เฝ้าระวัง จะช่วยควบคุมการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่ได้ สำหรับ แบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเจนซีส Bacillus thuringiensis (Bt) เกษตรกรสามารถเข้ามารับได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา 074-586725 ใน วัน และเวลาราชการ

Related

Powered by WordPress

แชท
Skip to content