1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จับมือประธานสมาคมพืชสวนระหว่…

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จับมือประธานสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ ( AIPH ) พร้อมด้วยผอ. สสปน. และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ลุยเดินหน้าจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัด อุดรธานี 1 พฤศจิกายน 2569

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) เข้าร่วมพิธีปิดงานมหกรรมพืชสวนโลกนครเฉิงตู Cheungdu Expo 2024 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทั้งหารือกับสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH)

โดยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และพันโทวรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ประชุมหารือร่วมกับMr. Leonardo Capitanio ประธานสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ Mr. Tim Briercliffe เลขาธิการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ และคณะกรรมการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ

สาระสำคัญสรุป ดังนี้

สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ได้แนะนำแนวทางการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการเตรียมการจัดงานที่มีอย่างจำกัดเพียง 1 ปี 4 เดือน ประกอบกับได้รับทราบข้อมูลว่าการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้ยังไม่มีผู้รับจ้างมาดำเนินงานดังนี้

1. เสนอให้มีการปรับแบบผังแม่บท โดยให้ลดความสลับซับซ้อน (Complexity) ของโครงสร้างและอาคาร แต่ยังคงสามารถสื่อสารความเป็นไทยและสอดคล้องกับธีมของงาน ทั้งนี้ ขอให้กรมวิชาการเกษตรหารือแนวทางการปรับปรุงผังแม่บทให้รีบปรับปรุงตามข้อแนะนำดังกล่าว รวมถึงได้แนะนำให้ปรึกษากับ Mr. John Boonผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผังแม่บทมหกรรมพืชสวนโลกของ AIPH เพื่อช่วยให้คำแนะนำแนวทางการปรับปรุงผังแม่บทใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด  โดยทาง AIPH ได้เน้นย้ำว่า โครงการ ระดับ B โดยปกติในส่วนของอาคารจะเป็น Temporary Building เป็นส่วนใหญ่

2. เสนอให้ปรับลดขนาดของพื้นที่จัดงานลง เนื่องจากการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานีเป็นระดับ B ซึ่งตามข้อกำหนดของAIPH กำหนดพื้นที่อย่างน้อยประมาณ 150 ไร่หากประเทศไทยจะลดขนาดพื้นที่จัดงานลงจากเดิมที่กำหนดไว้ประมาณ 1,030 ไร่ ให้เหลือครึ่งหนึ่ง หรือ400-500 ไร่ ก็สอดคล้องกับคำแนะนำของ AIPH เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ในการตรวจติดตามพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ (Site Inspection) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการจัดงานของประเทศไทยตามข้อจำกัดดังกล่าวทั้งนี้ ประธาน AIPH เน้นย้ำว่าแนวทางการจัดงานของ AIPH คือ “Less is the best”

3. อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และผู้แทนจังหวัดอุดรธานี ได้เสนอขอให้ขยายระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่ให้แก่ประเทศสมาชิก AIPH เพื่อเข้ามาดำเนินการจัดสวนและก่อสร้างอาคารนานาชาติ ก่อนเปิดงาน 3 เดือน จากเดิมต้องส่งมอบพื้นที่ให้ AIPH ก่อนเปิดงาน 6 เดือน (วันที่ 1 สิงหาคม 2569 แทนวันที่ 1 พฤษภาคม 2569) เพื่อให้มีระยะเวลาในการก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการAIPH ได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

4. เน้นความสำคัญของการจัดแสดงทางด้านพืชสวน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของพืช/ต้นไม้/ไม้ดอกไม้ประดับ โดยขอให้เน้นการจัดสวนอย่างมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ รวมทั้ง ขอให้เร่งดำเนินการในการจัดเตรียมพื้นที่และสถานที่สำหรับการพักและอนุบาลต้นไม้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการจัดงานมหกรรม
พืชสวนโลก

5. แนะนำให้เชิญชวนภาครัฐ ภาคเอกชน และเมืองอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมการจัดสวนองค์กร สวนเมืองพี่เมืองน้อง สวนจังหวัด เพื่อเพิ่มความหลากหลายและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

กรมวิชาการเกษตร สสปน. และผู้แทนของจังหวัดอุดรธานี จะนำข้อมูลดังกล่าว รายงานต่อคณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ และคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯรวมทั้งสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ ทั้งนี้ จังหวัดอุดรธานีต้องเร่งดำเนินการส่งมอบกรรมสิทธิ์ผังแม่บทให้กรมวิชาการเกษตรโดยด่วนที่สุด และเร่งปรับสภาพพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามกำหนด ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567เพื่อที่กรมวิชาการเกษตร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เชิญชวนผู้รับจ้างจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ ในครั้งที่ 2 ต่อไป

โดยการปรับปรุงตามคำแนะนำดังกล่าว จะสร้างความมั่นใจให้แก่คณะกรรมการ AIPH ในโอกาสที่มีกำหนดการลงตรวจติดตามพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก (Site Inspection) ทั้งในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครราชสีมาระหว่างวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2567 และในการประชุม AIPH Spring Meeting ณ จังหวัดเชียงราย ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568

โอกาสนี้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้กล่าวขอบคุณประธาน และคณะกรรมการ AIPH สำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ และเตรียมเชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ ผู้ประกอบการที่เคยได้รับการเชิญชวน และขอเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหม่มาร่วมรับทราบแนวทางในการปรับผังแม่บทที่ยังคงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานและข้อกำหนดของ AIPH ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป เพื่อให้สามารถ บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี และเพื่อให้เปิดงานได้ตามกำหนดในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569

Related

Powered by WordPress

แชท
Skip to content