กรมวิชาการเกษตร ติวเข้มเสริมองค์ความรู้บุคลากรผู้ตรวจประเมินแหล่งผลิตพืชอินทรีย์จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 ทั่วประเทศ มุ่งเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนดและมาตรฐานการตรวจรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (มกษ.9000–2564) หนุนเพิ่มจำนวนผู้ตรวจประเมินแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ให้มีเพียงพอ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับด้านการตรวจรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ เพื่อรองรับการขอรับรองเป็นแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ของเกษตรกรและผู้ประกอบการในอนาคต
นายเสกสรรค์ วรรณกรี ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรมีภารกิจหน้าที่ในการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ทั่วประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะและศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรกรมวิชาการเกษตร เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการตรวจรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ ให้กับผู้ตรวจประเมินและบุคลากรของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 ให้สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจประเมินการผลิตพืชอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานของสินค้าเกษตรที่ได้การรับรองมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ ตามมาตรฐานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มกษ.9000-2564 และกระบวนการตรวจรับรองคุณภาพของหน่วยรับรองกรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้มีการปรับปรุงแก้ไขเอกสารระบบคุณภาพการรับรองการผลิตพืช ให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO/IEC 17065 เอกสารมีความเป็นปัจจุบัน เหมาะสม และสะดวกต่อการปฏิบัติงานตรวจรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กล่าวว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้เร่งดำเนินการจัดอบรมโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การตรวจรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ ตามมาตรฐานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (มกษ. 9000-2564)” ให้กับบุคลากรกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่ 19 – 23 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมลายทอง จังหวัดอุบลราชธานี ที่ผ่านมา มีเนื้อหาสาระสำคัญ 12 หัวข้อวิชา อาทิ ข้อกำหนดและมาตรฐานการตรวจรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ตามมาตรฐานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มกษ.9000-2564 และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรตั้งเป้าให้ผู้ผ่านการฝึกอบรม สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจประเมินที่มีความรู้ความเข้าใจในการตรวจประเมินการผลิตพืชอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอบรมให้แก่ผู้เกี่ยวข้องได้ เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ตรวจประเมินแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ให้มีจำนวนเพียงพอรองรับการขอรับรองเป็นแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ของเกษตรกรและผู้ประกอบการได้ต่อไปในอนาคต