นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตามนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ได้ปุ๋ย และชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ผ่านการตรวจสอบรับรองการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรมวิชาการเกษตร จะมีคณะกรรมการบริหารตรวจสอบคุณภาพปุ๋ย และชีวภัณฑ์ สำหรับโครงการดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การขออนุญาตผลิต ไปจนส่งการส่งมอบผลิตภัณฑ์ปุ๋ย และชีวภัณฑ์ให้กับเกษตรกร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรย้ำ ผู้ผลิตปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการ ปุ๋ยคนละครึ่ง ต้องขอรับการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรโดยตรง ไม่หลงเชื่อผู้แอบอ้าง หากจัดเตรียมเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ กรมวิชาการเกษตร พร้อมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนทันที โดยต้องวิเคราะห์คุณภาพปุ๋ย ณ ห้องปฏิบัติการตามที่โครงการกำหนด ซึ่งรวมถึง ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 ที่มีศักยภาพในการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ปุ๋ย
สำหรับคุณสมบัติและเอกสารหลักฐานของผู้ประกอบกิจการปุ๋ยที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นผู้ผลิตปุ๋ย หรือผู้นำเข้าปุ๋ยที่ได้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า หรือใบอนุญาตผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้า หรือ ใบอนุญาตนำเข้าปุ๋ย แล้วแต่กรณี, ปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการต้องได้รับหนังสือสำคัญรับแจ้งปุ๋ยเคมีมาตรฐานหรือใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีสำหรับใช้ในนาข้าวตามสูตรปุ๋ยที่โครงการกำหนด หรือใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ แล้วแต่กรณี, ต้องจัดส่งรายงานผลการวิเคราะห์ปุ๋ยรุ่นที่จัดส่งในโครงการ โดยต้องวิเคราะห์คุณภาพปุ๋ย ณ ห้องปฏิบัติการตามที่โครงการกำหนด
สำหรับคุณสมบัติและเอกสารหลักฐานผู้ประกอบกิจการชีวภัณฑ์ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นผู้ผลิตชีวภัณฑ์ที่ได้รับใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตราย, ชีวภัณฑ์ต้องได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย, ต้องจัดส่งรายงานผลการวิเคราะห์ชีวภัณฑ์รุ่นที่จัดส่งในโครงการ โดยต้องวิเคราะห์คุณภาพชีวภัณฑ์ ณ ห้องปฏิบัติการตามที่โครงการกำหนด
กรมวิชาการเกษตร อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการควบคุมคุณภาพ โดยการสุ่มตัวอย่าง ตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยและชีวภัณฑ์ จากโรงงานผู้ผลิตที่เข้าร่วมโครงการ ทุกรอบการผลิต (ทุก lot) ให้ได้มาตรฐานตามสูตรที่กำหนด หากกรมวิชาการเกษตรตรวจพบว่า โรงงานผู้ผลิตมีการผลิตสินค้าผิดมาตรฐาน หรือสินค้าปลอม กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ปุ๋ยเคมีที่ผิดมาตรฐาน มีโทษจำคุก 2-5 ปี ปรับ 80,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผลิตปุ๋ยปลอม มีโทษจำคุก 5-15 ปี ปรับ 200,000 – 2,000,000 บาท และหากผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปลอม มีโทษจำคุก 1 ปี 3 เดือน – 3 ปี 9 เดือน ปรับ 50,000 – 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับการผลิตชีวภัณฑ์ปลอมนั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี 8 เดือน ปรับไม่เกิน 480,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผลิตชีวภัณฑ์ผิดมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี 3 เดือน ปรับไม่เกิน 330,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง จะเริ่ม kick of ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ผู้ประกอบการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ สามารถสมัครผ่านช่องทางตามที่กรมการข้าวกำหนด ในวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2567รวมถึงกรมวิชาการเกษตรจะจัดประชุมชี้แจงให้กับโรงงานผู้ผลิตปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ให้ทราบถึงขั้นตอนการดำเนินการในการควบคุมคุณภาพกำกับดูแล และการสุ่มตรวจ ภายใต้กฎหมายกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่สนใจ และเข้าร่วมโครงการ เข้าร่วมประชุมรับฟังการชี้แจงรายละเอียด ดังกล่าว ณ กรมวิชาการเกษตร
อธิบดีกรมการเกษตรเน้นย้ำ ให้ระวังมิจฉาชีพหลอกลวง แอบอ้างอำนวยความสะดวก ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง หากมีข้อสงสัยในเรื่องของการขึ้นทะเบียน และการขออนุญาตผลิตปุ๋ย หรือการควบคุมติดตามกำกับดูแลในการตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในโครงการ สามารถติดต่อ ได้ที่ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เบอร์โทรศัพท์หมายเลข 085-8263561