1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. พิธีเปิดงาน วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสับปะรด และก…

พิธีเปิดงาน วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสับปะรด และการผลิตหน่อพันธุ์สับปะรดเพชรบุรี 2

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดงาน วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสับปะรด และการผลิตหน่อพันธุ์สับปะรดเพชรบุรี 2 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรสู่เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด และสร้างเครือข่ายผลิตหน่อ พันธุ์ดีเพื่อกระจายพันธุ์สู่เกษตรกร กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การเสวนา เรื่อง โซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสับปะรดเพื่อการแปรรูป ฐานการเรียนรู้สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 2 และเทคโนโลยีการผลิตหน่ออย่างง่าย ฐานการเรียนรู้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในการผลิตสับปะรดผลสด การจัดงานครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสับปะรดในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง นายกสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดระยอง ผู้แทนโรงงานแปรรูปสับปะรด และบริษัท SKY VIV จำกัด ร่วมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 150 คน

สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 2 ผ่านการรับรองพันธุ์ 15 สิงหาคม 2562 เป็นพันธุ์สำหรับการแปรรูป ลักษณะเด่น ได้แก่อัตราส่วนน้ำหนักเนื้อ : น้ำหนักผลเฉลี่ย 0.29 สูงกว่าพันธุ์ปัตตาเวียร้อยละ 26 แกนเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางแกน 2.17-2.87ซม. เล็กกว่าพันธุ์ปัตตาเวียร้อยละ 13.3-15.3 ผลทรงกระบอก Canning ratio 0.93-0.99 เหมาะสำหรับการบรรจุกระป๋อง ความหวานเฉลี่ย 13.9-17.9 องศาบริกซ์ หวานกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย14.4 องศาบริกซ์ ตาตื้นความลึกตาเฉลี่ย 0.73-0.81 ซม. ผลผลิตเฉลี่ย 9 ตัน/ไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ปัตตาเวียให้ผลผลิตเพียง 4 ตันเท่านั้น และเทคโนโลยีการผลิตหน่อพันธุ์อย่างง่ายโดยวิธีการตัดช่อดอกอ่อนเป็นเทคโนโลยีสำหรับขยายสับปะรดอย่างง่ายเหมาะสมสำหรับการขยายพันธุ์ที่มีปริมาณหน่อน้อย เพื่อให้ได้จำนวนเพิ่มขึ้น และลดระยะเวลาการผลิตหน่อ

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในการผลิตสับปะรดผลสดการออกแบบวางผังแปลงปลูกใหม่เพื่อใช้เครื่องจักรกลเกษตร และมีถนนรอบแปลงเพื่อให้รถแทรกเตอร์ติดอุปกรณ์แบบมีแขนยื่นขนาด 6 เมตร เช่น เครื่องพ่นสารชนิดแขนพ่น และเครื่องลำเลียงผลสับปะรดทำงานได้ ระบบการให้น้ำอัจฉริยะตามความต้องการของพืช โดยวางระบบให้น้ำแบบอิมแพคสปริงเกอร์ที่ปรับองศาได้ พร้อมระบบการให้ปุ๋ยแบบวาล์วผสมปุ๋ยเวนจูรี่ ระบบการให้น้ำอัจฉริยะ ใช้หลักการถังวัดน้ำฝนหักล้างกับการระเหยสะสม โดยมีเซนเซอร์วัดว่าน้ำในถังว่าแห้งหรือไม่ ถ้าน้ำในถังวัดน้ำฝนแห้ง สมองกลฝังตัวจะสั่งให้ อุปกรณ์ตั้งเวลา (Timer) ให้น้ำตามปกติ โดยตั้งเวลาให้น้ำตามสมการให้น้ำของ Penman-Monteith ที่คำนวณไว้ แต่ถ้าในถังวัดน้ำฝนมีน้ำฝนสะสมอยู่ สมองกลก็จะสั่งงดให้น้ำจนกว่าน้ำในถังวัดน้ำฝนแห้ง สมองกลฝังตัวจะสั่งให้น้ำอีกครั้ง เครื่องจักรกลเกษตรเพื่อใช้จัดการวัชพืช โรคแมลง ในแปลงสับปะรด เช่น เครื่องพ่นสารชนิดแขนพ่นติดท้ายแทรกเตอร์ แบบปรับอัตราฉีดพ่นอัตโนมัติให้ได้อัตราพ่น (ลิตร/ไร่) แม่นยำโดยปรับอัตราพ่นให้สอดคล้องกับความเร็วการเคลื่อนที่ของรถแทรกเตอร์ มีความสามารถการทำงานราว 22 ไร่/ชั่วโมง เครื่องลำเลียงผลสับปะรดสามารถใช้ในแปลงสับปะรดซึ่งวางผังปลูกสับปะรดตามแนวยาวขนานกับถนนในแปลง ช่วยทำให้การเก็บเกี่ยวสับปะรดทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเร็วกว่าการใช้แรงงานคนเก็บผลสับปะรด 2.6 เท่า อากาศยานไร้คนขับสำหรับถ่ายภาพเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพ เพื่อการวางแผนป้องกันและกำจัดวัชพืชของสับปะรด ลักษณะผิดปกติ หรือติดตามการเจริญเติบโตอย่างแม่นยำและรวดเร็ว

#กรมวิชาการเกษตร#DOATOGETHER
#50ปีกรมวิชาการเกษตร

Related
แชท
Skip to content