1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ Codex Committee on …

เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ Codex Committee on Pesticide Residues (CCPR) ครั้งที่ 54

นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ทำหน้าที่หัวหน้าผู้แทนประเทศไทย นำคณะผู้แทนจากกรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ Codex Committee on Pesticide Residues (CCPR) ครั้งที่ 54 ระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการประชุมเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานค่าปริมาณสูงสุด (Maximum Residue Limits; MRLs) ของสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรและอาหาร การจัดกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ส่วนของสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้เพื่อการกำหนดและวิเคราะห์ค่า MRLs โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ
.
.
ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการพิจารณากำหนดค่า MRLs ใหม่ ประมาณ 450 ค่า และเพิกถอนค่า MRLs ประมาณ 60 ค่า ครอบคลุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร 34 ชนิด โดยคณะผู้แทนไทยได้ร่วมผลักดันร่างค่า MRLs ที่กำหนดขึ้นโดยใช้ข้อมูลการศึกษาทดลองการตกค้างจากการใช้สารตามคำแนะนำของประเทศไทย จำนวน 4 ค่า ประกอบด้วยสาร dimethoate และ omethoate ในถั่วฝักยาว ที่ 0.07 และ 0.05 mg/kg ตามลำดับ สาร Dithicabamate จากการใช้สาร mancozeb ในลำไย ที่ 15 mg/kg และสาร emamectin benzoate ในกลุ่มย่อยผักใบของพืชวงศ์กะหล่ำ (ซึ่งครอบคลุมผักคะน้า) ที่ 0.2 mg/kg ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบร่าง MRLs ดังกล่าวเพื่อเสนอคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์พิจารณารับรองเพื่อประกาศใช้ต่อไปในเดือนพฤศจิกายน 2566 นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบกับข้อเสนอของประเทศไทยในการเพิ่มเติมรายการสินค้าเกษตรประเภทสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ อาทิ แมลงที่บริโภคได้และผลิตภัณฑ์แปรรูป (เช่น แมลงผง แมลงอบแห้ง) กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง รวมทั้งข้อเสนอการปรับเนื้อหาในส่วนของกลุ่มเครื่องในจากสัตว์เพื่อให้สอดคล้องตามนิยามของเครื่องในสัตว์ที่บริโภคได้ตามที่ได้ตกลงร่วมกัน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้การจัดกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันครอบคลุมทั้งผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ และการที่ประเทศไทยได้ร่วมส่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปกำหนดค่า Codex MRL จำนวนทั้ง 4 ค่านั้น จะทำให้ได้ค่ามาตรฐานที่ประเทศสมาชิกสามารถนำไปใช้กำหนดเป็นมาตรฐานของประเทศ และใช้อ้างอิงร่วมกันในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ลดปัญหาและอุปสรรคทางการค่าอันเนื่องจากการไม่มีค่า MRL ซึ่งจะส่งผลให้เอื้อประโยชน์แก่ประเทศไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดโลกและนำรายได้กลับสู่เกษตรกรในประเทศไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศไทย
Related
แชท
Skip to content